DB PongPat

DB PongPat X เป็นงานอนุรักษ์ฟอนต์เก่า DB PatPong.
โดยเนื้อแท้ของคำว่า "อนุรักษ์" นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักษาของเก่าชนิดห้ามกระดิดกระเดี้ยไปจากเดิม การอนุรักษ์ยังหมายรวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

ผมเชื่อว่าโลกเจริญขึ้นก็เพราะเรารู้จักตั้งคำถาม แต่ที่โลกเสื่อมถอยลงทุกวันนี้ โดยมากมักเกิดจากการเอาคำตอบที่ได้ไปใช้ผิดทาง! สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เมื่อใช้ไปนานวันเข้า ผ่านการสังเกตเห็นข้อบกพร่อง ยังต้องนำกลับมาสรุปบทเรียนเพื่อดัดแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น. DB Patpong ก็เช่นกัน ก่อนจะออกแบบปรับปรุงใหม่เป็น DB PongPat ผมได้ตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามไว้พอสมควร และทุกคำถามมีคำตอบให้เรียบร้อยแล้วดังนี้.

Q1: ทำไมช่องไฟของ DB PatPong ถึงชิดมากขนาดนั้น?

A1: ช่องไฟชิดๆ นั้นติดเชื้อมาจากการขูดอักษรลอก. ผมเคยชินกับการขูดอักษรลอกให้ช่องไฟชิดๆ (นิยมทำตามๆ กันมา) พอมาจับงานออกแบบฟอนต์เลยพลอยชิดไปด้วย (ยังมีฟอนต์ display ไทยตระกูลอื่นๆ ที่มีช่องไฟชิดจัดอีกมากมาย คงได้เชื้อมาเหมือนกัน!) ช่องไฟที่ชิดมากเกินไปเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟอนต์อ่านยาก. ดังนั้นสิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องจัดการกับ DB PatPong ก็คือขยายช่องไฟระหว่างตัวพิมพ์ให้กว้างขึ้น. เมื่อถูกใช้ในขนาดค่อนข้างเล็กจะได้ไม่ติดกันเป็นแพจนแยกแยะแต่ละตัวออกจากกันได้ยาก.

Q2: ทำไมเส้นฐานตัว ย ไม่เหมือนตัว อ ?

A2: ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ตัวอักษร อ และ ย มีโอกาสใช้งานแบบอยู่คู่กันมาก (เช่น อย่า, ปล่อย, ต๋อย, อยู่, อย่าง, น้อย ฯลฯ) สำหรับตัวพิมพ์ที่ต้องการให้อ่านราบรื่น (ดีไซน์ไม่จัดมาก) นั้น ผมเห็นว่าฐานตัว อ และ ย ควรดูกลมกลืนกัน. เมื่อแก้ฐานตัว ย ของ DB Patpong ให้เหมือนฐานตัว อ แล้ว ประโยชน์ที่ได้ตามมาคือ เราสามารถแยกแยะตัว ย ออกจากตัวข้างหลังที่ตามมาได้ง่ายขึ้น เพราะฐานหลังที่โค้งช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างด้านหลังให้โล่งขึ้น.

Q3: ทำไมพิมพ์คำว่า "ธรรมชาติ" แล้วดูไม่ธรรมชาติ?

A3: เช่นเดียวกับตัว อ และ ย, ธ และ ร มีโอกาสใช้งานแบบอยู่คู่กันมาก (เช่น ธรรม, ธุรกิจ, ธรณี ฯลฯ). การที่ตัว ธ ของ DB Patpong ถูกออกแบบให้ต่างจาก ร มากๆ อาจช่วยให้เราดูแยกแยะออกจากกันได้ดีไม่สับสน แต่ตัว ธ กลับดูไร้ความกลมกลืนจนเข้าขั้นระคายตา จึงถูกปรับแต่งให้เข้ากับตัว ร ดูราบรื่นเป็นธรรมชาติมากขึ้น.

Q4: ทำไมพิมพ์คำว่า ผอม ด้วย DB Patpong จึงดูขัดใจ?

A4: ผมเคยเห็นโฆษณาชวนคนลดน้ำหนักชิ้นหนึ่ง คำว่าผอม ใช้ฟอนต์ DB Patpong ดูขัดใจมาก. เพราะตัว ผ อ้วนเกินไป. คำตอบคือเอาตัว ต พลิกตีลังกาใช้เป็นตัว ผ จะผอมดีกว่า.

Q5: ทำไมหางตัว ง ต้องสูงถึงหัว?

A5: ธรรมชาติของลายมือเขียน หรือตัวพิมพ์เนื้อแล้ว หางตัว ง จะอยู่ต่ำกว่าหัว. การลดหางตัว ง ของ DB Patpong ให้ต่ำลงน่าจะทำให้แยกแยะออกจากตัวอื่นได้ง่ายขึ้น.

Q6: ทำไมตัว ข ต้องคล้ายตัว ช?

A6: แม้ว่า ข และ ช ของ DB Patpong จะดูไม่สับสนกัน (รอยหยักที่เส้นหลังของตัว ช และหางสังเกตได้ง่าย) แต่ลองสำรวจดูแล้วจาก ก-ฮ ของ DB Patpong มีตัวที่ประกอบขึ้นด้วยเส้นแนวเฉียงน้อยมาก. ที่เด่นชัดมี พ, ฟ, ฬ (ส่วน ง และ ร ไม่แรงนัก) นอกนั้นเต็มไปด้วยเส้นขนานในแนวตั้ง. ดังนั้นถ้าเปลี่ยน ข ให้เป็นรูปตัว V น่าจะช่วยแก้เลี่ยนได้อีกเล็กน้อย (ตัว ข ถ้าเขียนแบบหวัดๆ จะมีรูปร่างคล้ายตัว V อยู่แล้ว).

นอกจากตัวพิมพ์อักษรไทยใน DB Patpong จะถูกแก้ไขไปพอสมควรแล้ว ทั้งตัวพิมพ์ใหญ่อักษรโรมัน และชุดตัวเลขอารบิค (ซึ่งสูงเท่ากัน) ยังถูกปรับแต่งลดความสูงลงเล็กน้อย ไม่ให้ข่มอักษรไทยจนเกินไป. และแน่นอน, เพื่อให้จุใจขึ้น จีงเพิ่มน้ำหนักบาง (Light) และหนา (Bold) ให้ใช้งานด้วย.

ใครอ่านมาถึงตรงนี้ คงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า

Q7: ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น DB Pongpat X Compressed?

A7: ชื่อฟอนต์ "ดีบี พงษ์พัฒน์" ฟังดูก็รู้ว่าตั้งใจให้คล้าย "ดีบี พัฒน์พงษ์" แต่ไม่เหมือน. นอกจาก ภาพ จะเปลี่ยนไปหลายจุดดังที่เฉลยไว้แล้ว ภาพพจน์ ของคำว่า "พงษ์พัฒน์" ก็ฟังดูดีกว่า "พัฒน์พงษ์". ใครที่จะนำฟอนต์ใหม่นี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนด Brand Identity จะได้ขายลูกค้าได้ง่ายขึ้น. ส่วนคำลงท้ายว่า Compressed เป็นการบอกรายละเอียดของรูปทรงตัวพิมพ์ว่าเป็นประเภทผอมมากๆ ไม่ใช่แค่ผอม (Condensed).

 

ถ้า DB Pongpat X ภาค Compressed เป็นหนังขายดี ก็คงต้องมีภาค Regular ต่อไปในไม่ช้า!

จากคอลัมน์ a font a month จาก idesign
ฉบับ December 2007