DB Bunjerd

ถ้าใครมี American telephone directories ของปี ค.ศ.1937 อยู่ในมือ เปิดดูจะพบ ‘Bell Gothic’ ตัวพิมพ์ใหม่ล่าสุด (ของยุคนั้น) ที่ Chauncey H. Griffith ออกแบบ. ลักษณะเป็นตัวพิมพ์ที่อักษรค่อนข้างผอม เพื่อให้จุเนื้อหาได้มากๆ นั่นเอง. ทว่ารายละเอียดของรูปอักษรและช่องไฟหลวมๆ มีส่วนช่วยให้มันอ่านง่ายอย่างน่าทึ่ง

ด้วยคุณความดีของ Griffith ทําให้ Bell Gothic กลับมาได้รับความนิยมอีกในยุค 1990s จนถึงปัจจุบัน Bell Gothic ที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นฟอนต์ Opentype ล่าสุดนี้น่าจะยังคงเค้าโครงของเดิมของ Griffith อยู่มาก ดังจะเห็นได้จากน้ําหนักทั้ง Light และ Bold ของมันที่ค่อนข้างบางเมื่อเทียบกับฟอนต์ตัวเนื้อเรื่อง (text type) ที่เกิดใหม่ในยุคนี้. คงเป็นเพราะเดิมถูกออกแบบเป็นตัวเรียงพิมพ์ขนาดเล็กๆ ที่ต้องใช้พิมพ์บนกระดาษ ไม่เคลือบผิว (uncoated paper) จึงต้องทําเส้นบางเข้าไว้ (เพื่อซึมแล้วสวยพอดี!), ตัว Black ของ Bell Gothic ก็เช่นกันไม่ค่อยหนานัก เป็นได้แค่ Medium หรือ Bold ของฟอนต์แบบ sans serif ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

Time to try? นิตยสาร art4d ใช้ Bell Gothic Black พาดหัวได้สวยมาช้านาน. ถึงเวลาหรือยังที่จะลอง “พูดไทย” ด้วย display ไทยที่เข้ากัน?

ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับรูปอักษรของ Bell Gothic ทั้ง 3 น้ําหนักคือ ในชุด Light และ Bold จะมีส่วนคล้ายกันมากกว่า ส่วน Black จะแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ชุด Light และ Bold นั้น พวก ascender (หางของ b, d, h, k, l) จะตัดปลายทะแยงจากซ้ายขึ้นขวาเหมือนกัน ส่วนชุด Black จะตัดในแนวนอน. และเส้นแนวตั้งของอักษรทรงรีอย่าง c, e, o เส้นหน้าของ d, g, q หรือเส้นหลัง b, p ในชุด Light และ Bold ยังคงโค้ง ส่วนของชุด Black กลับ ถูกบีบเส้นตั้งให้ตรงมากน้อยต่างกันไป ในสายตาของผมแล้ว ผมกลับเห็นว่า Bell Gothic Black ดูเท่ห์กว่าเพื่อนร่วมก๊วนของมัน. ถ้าเอามาเทียบกับ Meta (ที่กลายมาเป็น DB Moment) ฟอนต์ทรงค่อนข้างผอมเหมือนกันก็นับว่าต่างกันมาก. Meta ดูละเมียดละไมละเอียดทุกฝีก้าว พูดจาเสนาะหู ขณะที่ Bell Gothic ดูเรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ทว่าสุภาพมีเสน่ห์ไม่ก้าวร้าวซึ่งเป็นบุคลิกที่ยังไม่เคยมีในฟอนต์ตระกูล DB. ยิ่งพิจารณาดูตัว u, n ของมันยิ่งเห็นความเหมาะสมจะนํามาเป็นต้นแบบทําตัวหัวเรื่อง (display) หรือหัวรอง (subhead) ไทย เพราะเส้นหน้าหลังเชื่อมโยงกันด้วยเส้นโค้งทะแยงสูง ทําให้นํามาปรับเป็นตัว น ที่ดูไม่สับสนกับ ม (ตัวกลับด้านของ น), บ และได้ ท ที่ไม่ดูสับสนเป็น ก ง่ายๆ (เมื่อใช้ในขนาดเล็ก ๆ หรือต้องดูไกลๆ) เหมือนที่เคยเกิดปัญหาจากฟอนต์ไทย เสมือนโรมันอื่น ๆ

การออกแบบตัวพิมพ์ไทยเริ่มต้นจากน้ําหนัก Bold ไทยก่อน โดยเทียบเคียงจาก Bell Gothic Black ต้นแบบ. ลักษณะเด่นของชุด Black นอกจากรูปอักษรทั้งชุดจะเป็นเส้นหนัก-เบาตามแนวตั้ง-นอนแล้ว ที่สําคัญคือ ตัวพิมพ์เล็ก (ซึ่งมักเป็นต้นแบบหลักในการปรับปรุงเป็นตัวพยัญชนะไทย) จะเน้นเส้นแนวตั้งให้ตรงเป็นพิเศษ. ดังนั้นตัว อ ที่ปรกติเส้นหน้าและเส้นหลังที่เคยโค้งก็จะถูกเหยียดตรงเหมือน e ของชุด Black. และตัว ด, ต จะมีเส้นหน้าตรงเหมือนตัว q เป็นต้น ตัว. ย ซึ่งมีที่ใช้ร่วมกับตัว อ บ่อยๆ จึงถูกซ่อน เส้นตรงสั้นๆ ในเส้นโค้งแนวตั้งเข้าไปด้วยให้ดูกลมกลืนกัน

ตัว ก ซึ่งแม้จะดูตรง ๆ อยู่แล้ว ส่วนปลายปากก็ยังจงใจตัดตรงในแนวตั้ง. หางของ ฎ ฏ ที่มักเคยชินกับการจบด้วยเส้นโค้งหรือเส้นตรงแนวทะแยงที่ส่วนปลาย กลับเลือกจบด้วยเส้นตรงสั้นๆ ในแนวดิ่งแทน

สระอะ ที่แม้จะมีหางโค้งทะแยงก็ยังคงรูปหัวเส้นตรงสั้น ๆ ในแนวดิ่งเอาไว้ (ไม่ใช้ลักษณะนี้กับไม้หันอากาศ เพราะจะดูสับสนกับไม้โทเอาได้!) หางโค้งทะแยงของ ะ เป็นความจงใจให้สัมพันธ์กับเส้นล่างของตัว น ที่ได้จาก u ของชุด Black. หยักที่ฐานของ พ, ฟ ก็ได้จากการเลียน แบบเส้นล่างของ น เช่นกัน

ตัว ข แม้ว่าส่วนหัวยังคงขมวดม้วนขนาดใหญ่ล้ำเส้น หน้าออกไปให้อ่านได้ชัด (ตามแบบฉบับของ DB) แต่เลือกชนกับเส้นดิ่งให้เห็นเป็นสันโดยไม่ลบมุมเพื่อเปิดโอกาสให้เห็นแนวเส้นตรงได้ยาวขึ้น

บ่อยครั้งที่เราจะพบความสับสนระหว่างตัว ซ กับ ช ในตัวพิมพ์ขนาดเล็กๆ หัว ซ ที่ได้จากการเติมขีดสั้น ๆ ในแนวดิ่งก่อนขมวดหัว นอกจากจะเป็นการรักษา DNA ของตัวพิมพ์ชุดนี้แล้วยังช่วยแก้ปัญหาความสับสนกับ ช อย่างได้ผลชะงัด. ลักษณะหัวของ ซ ตกทอดไปถึงตัว  ไ รูปโฉมแปลกตา. ส่วน ใ และ โ เป็นไปในทํานองเดียวกับหัว ข, ช เช่นเดียวกับเครื่องหมายคําถาม ที่ต่างไปจากของชุด Black เดิมของ Griffith.

ถ้าสังเกตเส้นบนของตัว ต ตรงรอยหยักให้ดีจะพบ ว่าต่างไปจาก q ต้นแบบ คือ แทนที่เส้นหลังจะตรงที่อ กลับปรับให้ปลายบนดูคล้ายเลข 1 ซ่อนอยู่เพื่อเน้นรอยหยัก ขึ้นให้ดูเป็น ต ได้ง่ายขึ้น. ลักษณะพิเศษนี้ถูกใช้ต่อในหลายที่ คือ ผ, ฝ, ๆ, ๒, ๘ และไม้ไต่คู้.

แม้สัดส่วนตัวพยัญชนะปรกติอย่าง น, บ จะกว้างกว่า ตัว u ของ Bell Gothic Black เล็กน้อย แต่เมื่อถึงบทตัวที่ควรผอมได้ เช่น ง, จ, ว ก็เลือกที่จะผอมเป็นพิเศษเพื่อใช้ความแตกต่างของความกว้างรูปอักษรให้เกิดประโยชน์ในการอ่าน, หางตัว ง, หัวตัว จ (เช่นเดียวกับหัวตัว ค) ยืมมาจากหางตัว r แตะกับเส้นตั้ง จะได้ดูผอมๆ โล่งๆ เหมือนตัว r สมใจอยาก. อักษรตัวแคบพวกนี้จะมีชุดสระ อิ อี อึ อื ชุดแคบของมันเอง เพราะได้ทํา ligature ไว้ให้แล้ว (ต้องใช้กับโปรแกรมที่รองรับ ligature ได้เท่านั้น) จึงไม่ต้องกลัวสระบนของมันจะไปชนทับหาง ป, ฝ, ฟ หรือสระบนของตัวพยัญชนะที่อยู่ข้างหน้า.

ตัว ล เส้นหลังของมันยังคงปลายล่างงอเล็กน้อยแบบ ตัว a ต้บแบบไว้เพื่อแก้เลี่ยน. หาง ส ที่งอกลักษณะล้อเลียนกับปลายล่างของมัน ถูกนําไปใช้กับหาง ช, ซ, ศ. ฬ, ฮ และเลยเถิดไปถึงขมวดม้วนของ ห ทําให้ได้ ห ที่ดูแปลกตา ออกไปจากเดิมๆ.

ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเล่นสันที่รอยต่อ ระหว่างเส้นตั้งด้านหน้ากับเส้นโค้งบนในตัว ค, หัวของไม้โท ที่คล้ายหัว ข รวมทั้งไม้ตรีที่งอกเงยออกมาจากไม้โท ฯลฯ ทําให้แบบตัวพิมพ์ไทยใหม่ที่ได้ชุดนี้ดูมีบุคลิกชัดเจนเป็นของมันเอง. จะมีอักษรบางตัวเท่านั้นที่อาจดูไม่แตกต่างจากฟอนต์อื่นๆ เช่น บ, ป หรือสระ า เป็นต้น (รวมเป็น ‘บาป’ พอดี!).

ส่วนพวกสระบนล่างทั้งหมด รวมไม้เอก, ไม้จัตวา, การันต์ ถึงจะปล่อยให้มันดูคล้ายๆ กับฟอนต์อื่นไปบ้าง ก็ไม่มีผลต่อบุคลิกตัวพิมพ์ชุดนี้เท่าใดนักเพราะมันไม่สามารถใช้โดดๆ ได้ ต้องผสมกับตัวพยัญชนะซึ่งส่วนใหญ่มีบุคลิกชัดเจนอยู่แล้ว.

เมื่อเสร็จน้ําหนัก Bold ของภาษาไทยและปรับแต่ง Bell Gothic Black ให้กลมกลืนเข้าชุดกันแล้วจึงขยายครอบครัวออกไปเป็น Medium, Regular, Light และตบท้าย ด้วย Heavy ให้สะใจขึ้นไปอีกรวมเป็น 5 น้ําหนัก (แซง Bell Gothic เดิมที่มีอยู่เพียง 3 น้ําหนัก) เนื่องจากน้ําหนักเส้นของชุดที่เพิ่มเติมขึ้นมาไม่ซ้ำกับน้ําหนักเดิมเลยและรูปลักษณ์อักษรยังแปลกตาออกไป จึงไม่เป็นการเกินเลยไป สําหรับการให้ชื่อฟอนต์ 5 น้ําหนัก รวมกับตัวเอนเป็น 10 สไตล์ชุดนี้ว่า ‘DB Bunjerd

คําศัพท์เก่าอย่าง ‘บรรเจิด’ ยังกลับมาฮิตในกลุ่ม คนรุ่นใหม่ได้ ทําไม DB Bunjerd เหลนของเจ้าคุณทวด Bell Gothic จะกลับมาบรรเจิดไม่ได้! 

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ December 2009