DB Bangrak

วงการสิ่งพิมพ์ยุคแรกๆ ของสยาม เรียกตัวเรียงตะกั่วที่ใช้เป็นเนื้อเรื่อง (text) รวมๆ กันว่า ‘ตัวธรรมดา’ และเรียกตัวที่ใช้พาดหัว (display) เป็นหัวเรื่องว่า ‘ตัวโป้ง’ ซึ่งตัวต้องโตกว่าตัวเนื้อธรรมดา (เหมือนหัวแม่โป้งที่โตกว่านิ้วอื่น). ถ้าย้อนกลับไปดูสิ่งพิมพ์ไทยยุคก่อน พ.ศ.2470 ดู จะพบว่าตัวโป้งที่ใช้กันอยู่มีขนาดไม่เกิน 48 พอยท์ ตัวอย่างเช่นงานโฆษณาปี 2468 ที่ตีพิมพ์ใน โฆษณาไทยเล่ม 1 ของเอนก นาวิกมูล จะเห็นตัวโป้งแบบธงสยาม 32 พอยท์ และตัวโป้งที่ดูคล้ายตัว ฝ.ศ. ธรรมดา. ตัวโป้งธงสยามเส้นหนายังคงได้รับความนิยมเรื่อยมา จนสิ้นสุดยุคตัวตะกั่ว แต่ตัวโป้งที่ดูคล้าย ฝ.ศ. นั้นไม่ได้รับความนิยมและถูกแทนที่ด้วย โป้งบาง ซึ่งแม้จะมี ฝ.ศ เป็นต้นแบบเช่นเดียวกัน แต่ทว่ามีรายละเอียดที่ประณีตงดงามกว่ามาก.

ตัวโป้ง ธงสยาม “ตั้ง โต๊ะ กัง” และตัวโป้งที่ดูคล้ายตัวฝรั่งเศส “อี.ซี. โมโนด์แอนโก” ใช้ในงานโฆษณาปี 2468 ร่วมกับตัวฝรั่งเศส หรือ ฝ.ศ (จาก โฆษณาไทย เล่ม 1 โดยเอนก นาวิกมูล)
โป้งบาง (ถ่ายเท่าแบบจริง) จากแบบตัวพิมพ์ของ ศรีอักษร
โฆษณาของนายแซ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร รวมข่าว ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2470. หลักฐานชิ้นสําคัญที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างตัวโป้งบางที่ใช้กับตัวโป้งอื่นๆ (จาก โฆษณาไทยสมัยแรก โดยเอนก นาวิกมูล)

โป้งบาง ปรากฏตัวอย่างเป็นหลักฐานในงานโฆษณา ‘นายแซ ช่างแกะ’ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร รวมข่าว ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2470. โฆษณาชิ้นนี้ได้เผยให้เห็นตัวพิมพ์ไทยดีสเพลย์ขนาด 32 พอยท์ เป็นอักษรเส้นบางแบบมีหนักเบา. เส้นแนวตั้งจะหนัก ส่วนเส้นแนวนอนจะเบาคล้ายตัว ฝ.ศ. ต่างกันตรงที่ว่าการเดินเส้นโดยรวมดูอ่อนช้อยกว่า. เทียบเคียงตัวพิมพ์ชุดนี้ได้กับฟอนท์ Century ขณะที่ ฝ.ศ. นั้นเปรียบได้กับฟอนท์ Times. ตามหลักฐานในแบบตัวเรียงพิมพ์ของตงเซียม ร้านจําหน่ายตัวเรียงตะกั่วที่เลื่องชื่อต่อมา ก็มีตัวพิมพ์ลักษณะนี้ปรากฏชื่อแบบเต็มยศว่า ‘ตัวพิมพ์แบบโป้ง 32 เส้นบาง ขนาด 32 ปอยท์’ หรือเรียกย่อๆ ว่า ‘โป้งบาง’ นั่นเอง.

เมื่อดูจากเนื้อความโฆษณาของนายแซที่ว่า “จําหน่ายตัวพิมพ์อักษรไทย...เช่นตัวโป้งชนิดตัวที่พิมพ์นี้... แลจะมีตัวใหม่อย่างโตๆ เช่น...ตัวใหญ่ขนาด 40 ปอยต์, ตัวเบ้อเร่อขนาด 48 ปอยต์” แสดงให้เห็นว่าตัวโป้งบางเสร็จสมบูรณ์ก่อน ‘ตัวเบ้อเร่อ ขนาด 48 ปอยต์’ ซึ่งน่าจะหมายถึง ‘โป้งแซ’ ของนายแซ่ซึ่งมีปรากฏใช้อยู่ขนาดเดียวคือ 48 พอยท์ นั่นเอง. ถ้าเราลองพยายามเทียบรูปอักษร (glyph) ของโป้งบางกับโป้งแซดูอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่าตัวพิมพ์ทั้งสองแบบนี้น่าจะเป็นผลงานที่เกิดจากคนคนเดียวกัน ข้อสังเกตประการแรกคือรูปอักษรที่เป็นแบบฉบับเดียวกัน กล่าวคือ การเดินเส้นปากตัว ก ที่ยื่นแหลมเฉียงขึ้นไปโดยไม่มีรอยหยักเข้า, เส้นหน้าของตัว ล ที่ตั้งตรงแล้วโค้งเฉียงทะแยงลงมาที่เส้นหลัง และกลุ่มอักษร บ, อ, ย ที่มีเส้นล่างตรงเชื่อมเส้นหน้าหลังด้วยมุมโค้งโดยมีรัศมีความโค้งด้านในใหญ่กว่าด้านนอก. ลักษณะที่กล่าวมาล้วนไม่เคยปรากฏในแบบตัวพิมพ์ชุดใดของไทยมาก่อน

ข้อสังเกตประการที่สอง คือ ตัวโป้งบางและโป้งแซ ถือเป็นแบบตัวพิมพ์คู่แรกของไทยที่ทิ้งน้ําหนักเส้นไว้ที่ปลายเส้นหางอักษรหลายแห่ง ขณะที่ตัวพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าไม่เคยทํา. เมื่อรวมข้อสังเกตทั้งหมดเข้าด้วยกันทําให้ผมมั่นใจว่า นายแซน่าจะเป็นคนแกะแบบตัวโป้งบางกับมือและเลือกใช้ตัวพิมพ์ใหม่ที่ ‘ดีไซเนอร์ภูมิใจเสนอ’ เป็นตัวเรียงในงานโฆษณาของตัวเอง!

สิ่งพิมพ์ในยุคหลัง พ.ศ. 2470 นั้น นอกจากจะมีโป้งแซตัวหนาขนาด 48 ปอยท์เป็นพระเอกแล้ว ยังมีโป้งบาง ขนาด 32 ปอยท์เป็นนางเอก และ ‘โป้งใหม่’ ขนาด 40 ปอยท์ (เรียกชื่อตามร้านตงเซียม) เป็นพระรอง. โป้งใหม่เคยถูกระบุอยู่ในโฆษณาของนายแซในบรรทัดก่อนหน้า ‘ตัวเบ้อเร่อ 48 ปอยต์’ ว่า ‘ตัวใหญ่ขนาด 40 ปอยต์’ ซึ่งตัวขนาด 40 พอยท์ ในยุคนั้นก็มีให้เห็นอยู่แบบเดียว. ถ้าพิจารณาดูตัวอักษร ก, ล และกลุ่ม บ, อ, ย ของตัวโป้งใหม่ดูจะพบว่าคล้ายกับของโป้งบางและโป้งแซมาก. ถ้านายแซสามารถสร้างตัวพิมพ์แบบตัวโป้งได้ครบถ้วนตามที่ประกาศล่วงหน้าในโฆษณาก็แสดงว่าโป้งใหม่เป็นผลงานของนายแซด้วยเช่นกัน.

โป้งบาง ถือเป็นตัวดีสเพลย์ไทยเส้นหนักเบาตัวเดียวของยุคตัวตะกั่วที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยน อักษรหลายตัวเช่น ข, จ, ร ฯลฯ ได้รับอิทธิพลมาจากตัวเนื้อ ฝ.ศ. แต่ด้วยขนาดตัวพิมพ์ที่โตกว่าทําให้นายแซสามารถใส่รายละเอียดลงไปได้มากกว่า ฝ.ศ. ต้นแบบ นายแซนำ ฝ.ศ. มารีดน้ําหนักให้เส้นแนวตั้งบางลง ทําตัวให้ผอมลง. ริดเส้นกิ่งตัว บ, ป, ษ, ญ และ ช, ซ ของตัวเนื้อ ฝ.ศ. ออกแล้วลบมุมฉากด้วยเส้นโค้งแทน. สิ่งที่ทําให้โป้งบางต่างไปจาก ฝ.ศ. อย่างเห็นได้ชัดคือ ปลายหางโค้งทิ้งน้ําหนักของตัวอักษรหลายตัวที่ดูกรุยกรายไฮโซกว่า. โดยเฉพาะอักษร ช, ซ, ศ และ ส ของโป้งบางนั้น พบว่ามีอยู่ 2 ชุดให้ช่างเรียงตัวตะกั่วเลือกใช้. ชุดหนึ่งจะเป็นแบบหางโค้งยาวสูงขึ้นไปดูอ่อนช้อยและเห็นได้เด่นชัดว่าแตกต่างจากตัว ข, ข, ค, ล ที่ไม่มีหาง (แม้ว่างานพิมพ์ยุคเก่าจะหยาบจนหางอักษรขาดไปบ้าง!) ส่วนอีกชุดจะเป็นแบบหางสั้นไว้สําหรับเรียงสระ วรรณยุกต์ซ้อนขึ้นไป. หางแบบ เพื่อเลือกนี้ถือเป็นบรรทัดฐานขั้นสูงของตัวพิมพ์ไทยที่นายแซ ได้สร้างไว้เป็นคนแรก. ตัวตะกั่วที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าโป้งบางทั้งหมดนั้น อักษร ช, ซ, ศ และ ส ล้วนถูกจัดระเบียบให้หาง หดต่ำ เพื่อเปิดพื้นที่ว่างให้ใช้ชุดอักษรบน (พวกสระบน, วรรณยุกต์, การันต์) ร่วมกับพยัญชนะที่ไม่มีหางขึ้นบนได้ จึงช่วยประหยัดปริมาณชุดตัวเรียงตะกั่วและประหยัดเวลาในการเลือกหยิบตัวเรียงตามระบบอุตสาหกรรม. ส่วนโป้งบางซึ่งเกิดมาเป็นตัวดีสเพลย์ขนาด 32 พอยท์ ย่อมไม่มีเนื้อความให้เรียงมากเหมือนตัวเนื้อบรัดเลย์หรือ ฝ.ศ. จึงสมเหตุสมผลที่นายแซ่จะแหวกกฏด้วยการเพิ่มตัวหางยาวพิเศษเข้าไปเพื่อเพิ่มสุนทรีย์ให้ผู้อ่าน. แลกกับการที่ต้องเพิ่มงานให้ช่างเรียกเล็กน้อยนับได้ว่าคุ้ม.

แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมื่อยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสงของไทยมาถึงกลับไม่มีใครอนุรักษ์โป้งบางเป็นตัวคอมพิวกราฟิค หรือแม้แต่เป็นฟอนท์ PostScript ในยุคต่อมาก็ตาม. โป้งบางและเพื่อนๆ ของมันถูกปล่อยทิ้งเป็นเศษตะกั่วตามโรงพิมพ์เก่าๆ รอวันถูกหลอมรีไซเคิลโดยผู้คนที่ ไม่รู้คุณค่า. จนวันหนึ่งตัวตะกั่วไทยมากมายได้ถูกขายไปในราคาถูกๆ ให้พ่อค้านําไปหลอมเป็นองค์จตุคาม.

อันที่จริงการสร้างตัวพิมพ์ไทยให้มีหางเพื่อเลือก อย่างโป้งบางนั้นเป็นไปไม่ได้เลยสําหรับตัวพิมพ์คอมพิว และฟอนต์ดิจิตอลยุคแรกที่ยังเป็น PostScript เพราะต่างล้วนมีข้อจํากัดให้ต้องมีเสือช้างหางสั้นอย่างละตัวในแบบตัวพิมพ์แต่ละชุด. แต่ด้วยเทคโนโลยีของฟอนท์ OpenType ปัจจุบันที่สร้างด้วย FontLab นั้นสามารถทะลายข้อจํากัดเรื่องหางไปแล้ว ด้วยสมรรถนะ (feature) พิเศษที่เรียกว่า ligature (จําง่ายๆ ว่า ลิเก-เจอ) สามารถเขียนโปรแกรมจับคู่ชุดอักษรบนได้ว่าจะเลือกเล่นลิเกกับเสือหรือช้างตัวไหน พูดง่ายๆ คือถ้าเราพิมพ์ ส จะได้ ส หางยาวสูงขึ้นไปเป็นตัว ปรกติ ต่อเมื่อพิมพ์สระเพิ่มเข้าไป จะมีคําสั่งกํากับไว้ว่า ถ้าสระ อี เจอ ส เสือ จะเลือกเล่นลิเกกับตัวหางสั้นเป็น สี (จะได้ไม่ตบตีกับตัวหางยาวเหมือนละครน้ําเน่าไทย!)

ตัวโป้งบาง ในสมุดภาพนางงาม งดงามด้วยคู่อักษรหางสั้นยาวหลายตัว (ภาพจากหนังสือ A Century of Thai Graphic Design โดย เอนก นาวิกมูล)

DB เริ่มทําฟอนท์ PostScript ใช้เอง (ฟอนท์ส่วนใหญ่ ใน DB#1) ตั้งแต่ตอนที่ใช้ชื่อบริษัทว่า Dear Book ที่ตั้งขณะนั้นอยู่ถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก. ช่างบังเอิญจริงๆ ที่ไปซ้ำกับตําบลที่อยู่ของร้านนายแซที่พิมพ์ระบุไว้ตอนท้ายโฆษณา พูดแบบสํานวนบู๊ลิ้มก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะฟ้าลิขิตไว้แล้ว ให้ เล่า ชั้ง ฮุย (ชื่อจีนเต็มยศของผมที่พ่อตั้งให้) เป็นผู้สืบทอด เพลงกระบี่ของท่านแซ! ดังนั้น โป้งบางในภาคสองที่เป็น OpenType จึงให้ชื่อเป็นอื่นใดไม่ได้ต้อง ‘ดีบี บางรัก’ เท่านั้น เพราะชื่อนี้นอกจากจะบันทึกประวัติศาสตร์สถานที่ทํางานทั้งของนายแซผู้สร้างและของ DB เก่าผู้สานต่อแล้ว ยังคง คําว่าบางไว้ให้โยงถึงชื่อโป้งบางเดิมที่มีอยู่น้ําหนักเดียว.

ผมพยายามรักษาสําเนียงระรื่นหูของโป้งบางไว้ใน DB BangRak ให้ได้มากที่สุด. ส่วนใหญ่มันจะแสดงออกที่ปลายหาง แม้แต่ปลายหางที่อยู่ในแนวดิ่ง เช่น ป, ฤ ฯลฯ จะมีการสะบัดปลายทั้งที่ตั้งขึ้นและดิ่งลงในทิศทางที่สลับกัน, แม้จะเพียงเล็กน้อยแต่ก็เพียงพอให้หวนระลึกถึงตัวอักษรเขียนลากหางอย่างไทยโบราณ. หากพิจารณาเฉพาะเส้นที่ฐานของชุดโป้งบาง ยังพบว่ากลุ่มอักษร บ (บ, ป, ษ) รวมทั้ง อ, ย มีฐานที่ค่อนข้างแบนไม่อ่อนหวานเหมือน อ, ย ของตัวพื้น. ฝ.ศ. ต้นตํารับ จึงปรับเพิ่มความโค้งมนให้ระรื่นตามากขึ้น. ระยะช่องไฟทั้งแนวระดับ (ระหว่างตัวอักษรที่ตั้งอยู่บนเส้นฐาน) และแนวตั้ง (ระหว่างชุดอักษรบนกับตัวพยัญชนะ) จงใจให้ดูโปร่งเข้าไว้เพื่อใช้เป็นตัวเนื้อเรื่องได้. จากนั้นจึงค่อยเพิ่มน้ําหนักขึ้นไปจากตัวบางเป็นตัวปรกติ, ตัวกลาง และตัวหนา รวมทั้งชุดตัวเอนจนได้ครอบครัวตัวเนื้อที่สมบูรณ์. ถึงตรงนี้ยิ่งเห็นได้ชัดว่าชื่อโป้งบางเดิมที่มีความหมายแคบเพียง ‘ตัวดีสเพลย์เส้นบาง’ นั้นไม่เหมาะแล้ว ที่จะนํามาใช้กับฟอนท์หลายน้ําหนักที่สามารถใช้เป็นตัวเนื้อได้.

ชุดตัวพิมพ์อักษรโรมันใน DB BangRak ได้ปรับปรุง จากฟอนท์ Century ทั้งสัดส่วนความกว้าง และน้ําหนักเส้น จนกลมกลืนกับชุดอักษรไทยทั้ง 4 น้ําหนัก. ชุดตัวเอนเดิมของ Century ที่ตัวพิมพ์เล็กและตัวเลขของมันดูอ่อนหวานเกินหน้าเกินตาตัวไทยเอนนั้นได้ถูกปรับแต่งรูปอักษรให้ทะมัดทะแมงขึ้น รวมทั้งลดองศาที่เอนจากเส้นดิ่งลง.

สมัยผมยังเล็ก พ่อเคยพาผมเข้าสนามศุภชลาศัย ไปดูบอลคู่ระหว่างจีนไต้หวันกับไทย. ไม่แปลกที่เราเชียร์คนละฝ่ายอย่างสนุก ไม่ขัดแย้ง เพราะเราต่างเข้าใจดีว่า คนหนึ่งอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ อีกคนเกิดเมืองไทย จะให้ใครรักชาติภาษาอื่นมากกว่าแผ่นดินเกิดเป็นไปได้ยาก. ผมรักตัวพิมพ์โป้งบางในฐานะสิ่งประดิษฐ์ของชาติที่สะท้อนวัฒนธรรมอันดีงาม และจะมีความสุขมากถ้าลายลักษณ์หลัง พ.ศ. 2470 จะถูกนํากลับมาใช้ใหม่เพื่อสื่อให้คนไทยพูดจาภาษาดอกไม้กันให้มากขึ้น รับฟังกันให้มากขึ้น มีน้ําใจต่อกันให้มากขึ้น...

คนไทยส่วนใหญ่จะได้กลับมารักกันอีกครั้ง ให้สมชื่อบาง.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ July 2010