DB EcoThai

ในยุคที่ดินฟ้าอากาศของโลกเรากําลังปั่นป่วนหนัก ดูเหมือนจะมีข้อดีอยู่บ้างประการหนึ่ง คือคนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ํามือของมนุษย์กันมากขึ้น. ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ททท. ต้องมี Ecotourism ในภาคอุตสาหกรรม SCG มี EcoValue ฯลฯ เหล่านี้เป็นไปตามกระแสโลก โลกที่ผู้จิตใจเจริญแล้วมีสิทธิ์เจาะจงเลือกสินค้าบริการที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม.

แม้แต่แบบตัวพิมพ์ของฝรั่งก็ยังมี Ecofont เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน, มันชื่อว่า Ecofont Vera Sans เป็นการนําฟอนต์ฟรีที่อ่านง่ายอย่าง Vera Sans มาฉลุรูเรียงแถวตามแนวเส้นอักษร เพื่อจะได้ประหยัดผงคาร์บอนประหยัดหมึกที่ใช้พิมพ์. อันที่จริงการออกแบบตัวพิมพ์ ของโลกตะวันตกที่ช่วยประหยัดหมึกนั้นเคยเกิดขึ้นมานานแล้วด้วยความบังเอิญ ตัวอย่างเช่น Gill Sans ฟอนท์แบบ sans serif ยุคแรกๆ ที่ออกแบบโดย Eric Gill ในปี ค.ศ.1927. วัตถุประสงค์หลักของการออกแบบ Gill Sans นั้นเป็นความพยายามปฏิวัติรูปแบบตัวพิมพ์ อักษรละตินแบบ serif ดั้งเดิม ให้ดูเกลี้ยงเกลาขึ้น ด้วยการหัก serif ออก (sans แปลว่า ไม่มี). จุดเด่นของ Gill Sans คือ Eric Gill ยังเคารพสัดส่วนเดิม ๆ ของฟอนต์ serif ที่ชินตามานานจนเป็นของ Classic ไปแล้ว (อย่างเช่นฟอนต์ Jenson เป็นต้น) จึงทําให้คนยอมรับมันได้ง่าย. ตามประวัติในระยะแรกๆ ที่ Gill Sans ออกมา นักออกแบบจะเลือกใช้เป็นเพียงตัว display หรือ subhead. ต่อมาไม่นานนักคนเริ่มคุ้นตาขึ้นจึงค่อยขยับมาใช้เป็น text ลองดูบ้าง แล้วก็นิยมใช้กันมาเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบันนี้ Gill Sans ก็ยังเป็นของร่วมสมัยในอังกฤษ ถิ่นเกิดของมันอยู่. ทําไมถึงเป็นเช่นนี้? คําตอบน่าจะเป็นเพราะ Gill Sans เสมือนเป็นสะพานเชื่อมโยงรูปแบบอักขระยุคเก่ากับใหม่ไว้ในร่างเดียวกันได้อย่างแสนจะลงตัวนั่นเอง!

เปรียบเทียบสัดส่วน Gill Sans (1927) กับฟอนท์ของ Nicolas Jenson (1470)

ผมเคยนําหลักการของ Sans Serif มาทํา ฟอนต์ไทยแบบ Sans Loop แล้ว ชื่อ DB PorPiang SL ในปี พ.ศ.2550 เพื่อเสนอเป็นฟอนต์ตัวเนื้อทางเลือก. ชุดอักษรเป็นการออกแบบขึ้นใหม่ โดยลดรูปหัวและขมวดม้วนที่เคยกลมๆ ให้เหลือปลายเส้นโค้งงอ (sans loop หมายถึง ไม่มีหัวกลม) พอให้เป็นที่สังเกตเห็น. อย่างไรก็ตามนักออกแบบไทยยังคงเลือกใช้ DB PorPiang เป็นเพียงตัวพาดหัว. สาเหตุที่มันยังไม่ได้รับความนิยมเป็นตัวเนื้ออาจเป็นเพราะเค้าโครงของมัน ที่แตกต่างไปจากตัวเนื้อมาตรฐานเดิมๆ พอสมควร หรือช่องไฟที่ชิดเกินไป หรือชื่อ ‘พอเพียง’ ที่อาจไปจํากัดขอบเขตการตีความใช้งาน หรือช่วงเวลาที่ยังไม่นานพอ (เมื่อเทียบกับ Gil Sans ในช่วงอดีต) หรือถูกทุกข้อที่กล่าวมา!

หลังจากสรุปบทเรียนจาก DB PorPiang SL แล้ว ผมมองไปที่ฟอนต์มาตรฐานอย่าง TomLight ของ อาจารย์ทองเติม เสมรสุต และเชื่อว่าถ้าเลือก TomLight มาระเบิดหัวออก โดยพยายามที่จะรักษาเค้าโครงมันไว้ให้มาก ก็น่าจะได้ฟอนท์ใหม่ที่ได้รับความนิยมใช้เป็นตัวเนื้อได้ง่ายกว่า DB PorPiang SL.

เพื่อให้เข้าใจว่า TomLight เหมาะสมอย่างไร ทําไมผมถึงเลือก ต้องขออนุญาตยืนยันด้วยการพาคุณย้อนกลับไปดูประวัติที่เกิดที่มาของมัน. ผมเคยตั้งคําถาม กับอาจารย์มานพ ศรีสมพร (นักออกแบบแผ่นอักษรลอก ที่โด่งดังที่สุดของไทย ผู้ซึ่งเคยร่วมงานออกแบบตัวพิมพ์คอมพิวกราฟิคร่วมสมัยกับอาจารย์ทองเติม) ถึงความเป็นมาของ TomLight ได้ความว่า อ.ทองเติม สร้างขึ้นมาโดยการปรับปรุงจากชุดตัวเรียงพิมพ์ตะกั่ว. ผมจึงลองเทียบวิวัฒนาการของแบบตัวเรียงตะกั่วบรัดเลย์โค้งตั้งแต่ยุคต้นๆ จนถึงยุคปลาย ซึ่งเชื่อมต่อกับยุคตัวคอมพิวที่เรียงพิมพ์ด้วยแสง พบว่าอักษรทั้งชุดมันโยงใยถึง TomLight ได้จริงๆ อ.ทองเติม นําตัวบรัดเลย์โค้งมาจัดระเบียบใหม่ด้วยเส้นที่เป็นเรขาคณิตมากขึ้น จนดูเกลี้ยงเกลาทันสมัยสมเป็นตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง เทคโนโลยีสุดล้ำในขณะนั้น. กล่าวได้ว่า TomLight เป็นแบบตัวพิมพ์ที่นิยมใช้กันมากอย่างรวดเร็ว เพราะความเกลี้ยงเกลาที่เกาะอิงกับเค้าโครงตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วที่คนคุ้นชินมานานนั่นเอง. เข้าสู่ยุคฟอนท์ PostScript อ.มานพได้อนุรักษ์ไว้ภายใต้ชื่อ EAC TomLight ในช่วงใกล้เคียงกันทาง UPC ซึ่งร่วมพัฒนาระบบแสดงผลภาษาไทยกับ Microsoft ก็มี UPC Cordia ซึ่งทํามาจาก TomLight ของ อ.ทองเติม เช่นกัน การที่แบบตัวพิมพ์ TomLight ภายใต้ชื่อ UPC Cordia ผูกพ่วงมากับระบบปฏิบัติการของ Microsoft นั้นน่าจะมีส่วนช่วยสําคัญในการขยายความนิยมดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วมาจนถึงยุคฟอนท์ Opentype ณ ปัจจุบัน.

น่าเสียดายที่นักออกแบบรุ่นใหม่ทุกวันนี้รู้จัก UPC Cordia หลานสาวลูกครึ่ง มากกว่า TomLight ผู้เป็นปู่. แต่ไม่ว่าจะเป็น 'Cordia' หรือ 'Tom' ล้วนฟังเป็นฝรั่ง ตรงข้ามกับลักษณะของแบบตัวพิมพ์ทั้งชุดที่มีอัตลักษณ์ ไทยสูงมาก. ดังนั้นเมื่อทาง DB นํา TomLight มา พัฒนาต่อเป็น Opentype (ก่อนจะนําไประเบิดหัวให้โล่งแบบ DB PorPiang SL) จึงถือโอกาสใช้ชื่อใหม่ว่า DB ThongTerm เพื่อให้เครดิตกับ อ.ทองเติม เสมรสุต ผู้ออกแบบ.

เมื่อนำ DB ThongTerm (ตัว Regular เส้นหนาเท่า TomLight เดิม) มาระเบิดหัวออกในตอนแรกตั้งใจว่า แค่ลบหัวกลมๆ ให้เหลือโค้งไว้เป็นอันพอ ส่วนอื่นไม่แตะ แต่พอเอาเข้าจริงกลับมีอะไรต้องทํามากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น

เส้นกิ่งที่ฐาน ข, บ, ป ฯลฯ ควรถูกลบทิ้งไปด้วยตามขนาดหัวที่หดหายไป (ถ้าปล่อยไว้ กิ่งจะเด่นแข่งกับหัวที่ลดรูปไปแล้ว)

เมื่อตัว ข ซึ่งฐานเดิมแคบอยู่แล้ว ถูกลบกิ่งออกทําให้ดูตัวแคบเกินไปจึงขยายเส้นฐานออกชดเชยเล็กน้อย

ตัว ว จําเป็นต้องเหลือโค้งหัวไว้ให้มากกว่าตัวปรกติ อย่าง น, บ, ม เพื่อป้องกันไม่ให้ดูสับสนกับตัวสระอา (หัว ว เป็นเส้นโค้งครึ่งวงกลม ส่วนหัว บ แค่ 1/4 วงกลม), ถ้า ว หัวเล็กจะใส่สระอูไม่สวย หัวตัว ร จึงต้องแก้ตาม ว ด้วยเหตุผลข้อหลังนี้.

ตัว ง ด้วยเหตุผลคล้ายๆ ตัว ร ถ้าหัวเล็กเกินไปจะวางสระบนได้ไม่สวย จึงต้องเพิ่มโค้งหัวให้ยาวกว่าพวกตัวปรกติ.

ตัว ด เมื่อเปิดหัวออกพบว่า หัวส่วนที่เหลือดูชิดเส้นหลังเกินไป จึงต้องแก้ไขด้วยการโยกคอเข้ากลางเล็กน้อย.

ตัว ค ในทํานองเดียวกันกับตัว ด, ต้องลดระดับหัวที่เหลือลงเพื่อไม่ให้ดูชิดเส้นโค้งบนเกินไป

สระอิ อี อึ อื ถือโอกาสลดเส้นโค้งแนวนอนเหลือเส้นเดียว ประหยัดไปได้ตั้งครึ่ง แต่ทั้งสระอึ และสระอํา ยังคงหัวกลมแบบปิดดั้งเดิมไว้ เพราะถ้าไปทําเว้าแหว่งจะดูไม่งามไม่เคลียร์.

เมื่อเสร็จงานระเบิดหัว DB ThongTerm ตอนแรกตั้งใจจะตั้งชื่อว่า DB ThongTerm SL แต่ก็กลัวคนจะเชื่อมโยงความหมายได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักแต่ Cordia ไม่รู้จักว่าต้นแบบเป็นฝีมือใคร และจะมีใครเห็นชื่อแล้วเดาได้ว่า SL นั้นย่อมาจาก sans loop? ผมเลยต้องเปลี่ยนใจหยุดชื่อไว้ก่อน. จากนั้นไม่นานมีฟอนต์ชื่อ Ecofont Vera Sans ออกมากระตุ้นให้ผมนึกอยากจะทําฟอนท์ไทยแบบ Eco ให้คนไทยมีใช้บ้าง แต่พอศึกษาดูพบว่า TomLight (ในร่าง UPC Cordia) ที่เป็นมาตรฐานงานเอกสารมาช้านานมีเส้นบางกว่าตัว Vera Sans. แล้วฟอนต์ตัวเนื้ออีโคแบบไทยๆ ควรเป็นอย่างไร? คําตอบก็คือฟอนท์ DB ThongTerm แบบ sans loop ที่ทําเสร็จไปแล้วไง! มันใช่อยู่แล้วโดยบังเอิญ เหมือน Gill Sans ที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้นนั่นเอง. Gill Sans ลด Serif ช่วยประหยัดหมึกได้ฉันใด ฟอนต์ประหยัดหัวตัวใหม่ย่อมช่วยประหยัดหมึกได้ฉันนั้น ชื่อเก่าที่จะตั้งว่า DB ThongTerm SL จึงเปลี่ยนใหม่เป็น DB EcoThai ลงตัวที่สุด เพราะชื่อนี้สามารถโยงความหมายของรูปลักษณ์เข้ากับประโยชน์ใช้สอยได้พอดี รูปลักษณ์ที่ลดทอนรายละเอียดลงนั้นคือรูปธรรมของการประหยัด จึงเหมาะสมจะนําฟอนต์นี้ไปใช้สอยในงานสื่อสารนวตกรรม, กิจกรรม ฯลฯ เพื่อการประหยัด ทรัพยากรเป็นอย่างยิ่ง.

เมื่อนํา DB EcoThai มาเปรียบเทียบกับ Ecofont Vera Sans ต้นไอเดียกลับพบว่า EcoThai ใช้งานได้กว้างกว่า นั่นเพราะ Ecofont Vera Sans ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นตัวเนื้อประหยัดผงคาร์บอน ในงานเอกสารเป็นหลัก เวลาขยายใหญ่เป็นตัวดิสเพลย์แทนที่จะดู เรียบง่ายแบบ Vera Sans เดิม กลับเผยให้เห็นแถวรูพรุนขาวบนเส้นอักษรดําดูลายๆ กลายเป็นตัวแฟนซี (จาก Ecofont เลยกลายเป็น Discofont ไปเสียอย่างงั้น!). ส่วน DB EcoThai ที่เกิดมาเพื่อเป็นตัวเนื้อเช่นเดียวกัน เมื่อขยายใหญ่ใช้เป็นตัวดิสเพลย์ แน่นอนบุคลิกย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (เพราะไม่มีรูพรุนเหมือน Ecofont Vera Sans). ในทางตรงกันข้าม เมื่อใช้ฟอนต์ทั้งสองเปรียบเทียบกันดูด้วยพอยท์ขนาดเล็กจิ๋ว จะพบว่า Ecofont Vera Sans ไม่แตกต่างไปจาก Vera Sans ต้นแบบของมัน (ถึงเครื่องพิมพ์สามารถเก็บรายละเอียดรูพรุนซุปเปอร์จิ๋วของฟอนต์ไว้ได้ ตาเราก็แยกไม่ออก!) ขณะที่ DB EcoThai กลับได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า TomLight (ในร่าง DB ThongTerm) ต้นแบบ ในข้อที่ว่าดูโปร่ง สบายตา หัวไม่มีวันบอดตัน นั่นเพราะมันไม่มีหัวม้วนกลม ให้หมึกท่วมตันดูเป็นๆ อย่างที่เราเห็นบ่อยบนถุงขนมนั้นเอง.

แท้จริงแล้วฟอนต์แบบอีโค ไม่ได้หมายความเพียงฟอนต์ประหยัดหมึก ประหยัดกระดาษ ฯลฯ เท่านั้น อีกนัยยะหนึ่งที่อาจสําคัญกว่ามากคือ ประสิทธิภาพในการใช้สื่อสารของฟอนต์นั้น ๆ เช่น สมมติว่าถ้าเราใช้ DB EcoThai พิมพ์บนกระดาษฉลากยาแผ่นจิ๋ว แล้วคนอ่านวิธีใช้ยาได้ชัดเจน ใช้ยาได้ไม่ผิดพลาด ก็เท่ากับว่ามันได้ช่วยประหยัดทรัพยากรที่ใช้ผลิตยาและประหยัดชีวิตคนจากการใช้ยาผิดพลาด. เทียบกันแล้วเรื่องประหยัดผงคาร์บอนดูกลายเป็นเรื่องขี้ผงไปเลย!

ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถือว่าคุณได้ผ่านประสบการณ์ล้ำค่าในการทดสอบประสิทธิภาพตัวพิมพ์ DB EcoThai ร่วมกันกับผู้อ่านอีกหลายคน. คลิกเข้าไปที่ DB EcoThai แล้วจะพบว่า DB EcoThai เป็นฟอนท์ประหยัดทรัพย์ได้ด้วย

เพราะเราให้คุณดาวน์โหลดไปใช้ฟรีไม่คิดเงิน!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ July 2011