DB PongMai

วงการสิ่งพิมพ์สยามยุคช่วงต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ.2475 นิยมเรียกตัวพิมพ์พาดหัวที่มีขนาดใหญ่ว่า ‘ตัวโป้ง’ เช่น โป้งบาง โป้งรอง ที่เรียกตามลักษณะของมัน, โป้งแซ ที่ตั้งตามชื่อคนออกแบบ. และโป้งไม้ที่เรียกชื่อตามวัสดุที่ใช้สร้างมันขึ้นมา. โป้งแซ, โป้งบาง, โป้งรอง มีกําเนิดเป็นตัวเรียงตะกั่ว (ปัจจุบันอนุรักษ์ไว้เป็น Opentype font หมดแล้ว คือ DB Zair, DB BangRak และ DB PongRong ตามลําดับ) มีเพียงโป้งไม้ตัวเดียวที่เกิดมาเพื่อเป็นตัวพิมพ์ไม้ขนาดโต เพื่อใช้พาดหัวหนังสือพิมพ์ยุคนั้น. สํานวน ‘พาดหัวตัวไม้’ ที่หมายถึงข่าวพาดหัวขนาดใหญ่มาก จึงมีที่มาจากตัวโป้งขนาดโตที่แกะจากไม้นั่นเอง.

ภาพหนังสือพิมพ์จาก A Century of Thai Graphic Design โดย เอนก นาวิกมูล ใช้ตัว โป้งไม้ (บน), โป้งรอง (กลาง) และโป้งแซ (ล่าง) ร่วมกัน

กลุ่มอักษร “ตัวโป้ง” ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นตัวดิสเพลย์ จึงใส่รายละเอียดได้มากกว่าตัวเนื้อ. กระนั้นก็ตาม ความประณีตงดงามของตัวโป้งแต่ละตัวยังคงขึ้นอยู่กับฝีมือช่างแกะแบบหล่อตัวพิมพ์ของแต่ละค่าย รวมไปถึงคุณภาพการหล่อแบบ, คุณภาพงานพิมพ์ (ด้วยแท่นพิมพ์ยุคก่อนจะมีออฟเซท), ต้องไม่ลืมว่าตัวพิมพ์ตะกั่วหรือตัวบล็อกไม้นั้นสามารถสึกกร่อนได้ตามอายุการใช้งานอีกต่างหาก ไม่เหมือนกับฟอนต์ยุคนี้ที่ไม่ยอมสึกกร่อนเสื่อมสลาย (ตราบใดที่คุณยังตามอัพเกรดได้ทัน!)

ตัวพิมพ์โป้งไม้เท่าที่ผมพบจากเอกสารทั้งสําเนาและงานพิมพ์ จริงนั้น มีลักษณะแตกต่างกันไปในรายละเอียด. เนื่องจากรูปลักษณ์ของมันดูเป็นทางการ อ่านง่าย (เพราะเป็นอักษรแบบมีหัว) หนักแน่นมีพลัง (เพราะมีเส้นตั้งหนามาก) อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่ (เพราะตัวผอมสูง ส่งผลให้นิยมใช้ติดตา จนในที่สุดถูกนํามาแกะแบบทําตัวตะกั่วขนาด 72 พอยท์ในภายหลังโดยคงเรียกชื่อ ‘โป้งไม้’ ดั้งเดิมไว้.

หางตัว ง ที่ตวัดย้อนกลับ ถือเป็นเอกลักษณ์ของโป้งไม้ ซึ่งไม่เคยพบในชุดตัวพิมพ์ใดๆ ที่ร่วมยุคสมัยกับโซึ่งไม้เลย

เมื่อเข้าสู่ยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (คนในวงการพิมพ์นิยมเรียกตัวคอมพิว ตามชื่อแบรนด์ ‘คอมพิว กราฟิค’ เหมือนเรียกผงซักฟอกติดปากว่าแฟ้บ) มีเพียงตัวโป้งรอง (หรือโป้งใหม่) เท่านั้นที่ได้รับการอนุรักษ์ต่อเป็นฟอนต์ชื่อ ‘โกเมน’ โดยอาจารย์ มานพ ศรีสมพร. จนเข้าสู่ยุคฟอนต์แบบ PostScript จึงมีโป้งไม้อีกตัวที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยการกํากับของประชา สุวีรานนท์. SMB PongMai ของประชามีความประณีตพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยังพบความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น ระบบของหางอักษร (เช่น หางสระ เ ยังมนอยู่แทนที่จะเป็นเหลี่ยมแบบโป้งไม้ทั่วไป) ความโค้งของเส้นบน (เช่น ค, ด) สัดส่วนตัวพิมพ์ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเว้นช่องว่างรูปอักษรทั้ง ก-ฮ และรูปสระทุกตัวที่ตั้งบนเส้นฐานนั้นไม่ได้มาตรฐาน เพราะเว้นว่างเฉพาะพื้นที่ ด้านหลัง (ถ้าพิมพ์ ฅ ตัวโตๆ ไว้กลางหน้ากระดาษ A4 จะได้คนเอียงซ้าย) เมื่อโป้งไม้ถูกทําใหม่เป็น OpenType ข้อบกพร่องทั้งหมดที่กล่าวมาผมได้แก้ไขให้แล้วใน DB PongMai. นอกจากส่วนโค้งเว้าของอักษรโดยรวม (เช่น หางตัว ง, ไม้โท) ของ DB PongMai Bold จะถูกดัดให้ดูใหลลื่นขึ้นแล้ว ขนาดของตัวพยัญชนะก็ยังโตขึ้น เมื่อเทียบกับ SMB PongMai เดิมที่ขนาดพอยท์เท่าๆ กัน. ในชุด DB PongMai นอกจากจะมีตัวอักษรโรมันที่ผอมได้สัดส่วนกับอักษรไทยมากขึ้นกว่าใน SMB PongMai แล้ว ยังเพิ่มตัวโป้งไม้น้ําหนักปรกติเข้าไปเพื่อให้ใช้งานได้กว้างขึ้น.

พูดถึงการใช้งานโป้งไม้แล้ว คนนอกวงการออกแบบแทบจะไม่เคยสังเกตเห็น. ความจริงจังขึงขังของโป้งไม้เคยถูกประชา (ผู้ชุบชีวิตมันขึ้นมา) ใช้เป็นตัวพาดหัวงานรณรงค์ทางการเมืองผ่าน SMB PongMai เป็นระยะๆ นอกจากนั้นยังพบการใช้โป้งไม้กับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คในเครือมติชน ซึ่งเป็นการนํา SMB PongMai มาทําให้เตี้ยลง แต่ยังคงมีแค่น้ําหนักเดียว. จะเห็นได้ว่าโป้งไม้ยังถูกใช้งานค่อนข้างจํากัดวง, การเพิ่มน้ําหนักบางใน DB PongMai คงไม่พอ ผมจึงนํา DB PongMai มาปรับแต่งสัดส่วนให้เตี้ยใกล้เคียงตัวเนื้อมาตรฐาน แล้วขยายน้ําหนักเพิ่มเติมเข้าไปอีกเป็น DB Bangkok 4 น้ําหนัก พร้อมตัวเอน เพื่อหวังเพิ่มทางเลือกให้ลูกหลานโป้งไม้ถูกใช้งานมากขึ้น เช่น ทํานิทรรศการ อย่าง DB ComYard หรือใช้เป็นตัวพื้นในหนังสือได้อย่าง DB JariyaTham เป็นต้น ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ หรือยาสมุนไพรอิงภูมิปัญญาเก่าที่ผลิตขึ้นใหม่สมัยนี้ก็น่าจะใช้บริการของลูกหลานโป้งไม้ได้.

ตัว ค และ ด ของโป็งไม้ ลดทอนขนาดหัวได้อย่างลงตัวโดยไม่สับสนกัน สังเกต ค หดหัวซ่อนไว้ ส่วน ด เห็นคอชัดเจนเพียงพอที่จะบอกว่าหันหัวไปทางใหน. ตัว จ แทนที่จะละหัวแบบ ค กลับเพิ่มคอยื่นโค้งงอออกไป เพื่อใช้แก้พื้นที่ว่างด้านซ้ายของมัน เป็นหนึ่งในความพยายามทําให้อักษรทั้งชุดดูหนักแน่นทุกกระเบียดนิ้ว

เราจะเห็นตัวอักษรหน้าตาคล้ายๆ โป้งไม้อยู่ในเมืองบางกอกมาช้านาน ไม่เฉพาะพาดหัวตัวไม้บนหนังสือพิมพ์สยามยุคนั้น แต่ยังพบอักษรเขียนคล้ายๆ กันนี้มากมาย เช่น ตามป้ายอาคารเก่า ไปจนถึงปกหนังสือแบบเรียนเก่าของคุรุสภา. ทั้ง DB PongMai และ DB Bangkok จึงเปรียบเหมือนเครื่องบันทึกคําบอกเล่าอัตลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณค่า หรือความขมขื่นก็ตาม

อยู่ที่การตีความของนักออกแบบว่าจะใช้แผดเสียงรณรงค์ หรือใช้เจรจาภาษาดอกไม้ ฯลฯ ได้ทั้งนั้นครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ May 2012