DB NopEuro

ความอยากทันสมัยเหมือนฝรั่งนั้นมีผลต่องานออกแบบของไทยในอดีตมาก ไม่ว่างาน 3 มิติที่สลับซับซ้อนอย่างสถาปัตยกรรม หรืองาน 2 มิติที่เรียบง่ายอย่างแบบตัวอักษร. อาคารเรียนคอนกรีตเปลือยของโรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ถนนลาดพร้าว เคยสร้างสํานึกอย่างใหญ่หลวงกับผมต่อคุณค่าของการออกแบบ (น่าเสียดาย ที่ตึกโดนทุบทิ้งไปแล้ว). ตัวอักษรลอกรูปทรงเรขาคณิตถูกผลิตขึ้นมาเอาใจนักออกแบบไทย โดยเฉพาะอักษรทรงเหลี่ยมๆ คล้าย Eurostile นั้นมีผลงานที่เกิดจากนักออกแบบตัวอักษรถึง 3 คนให้เลือกใช้ หนึ่งในจํานวนนี้ คือ อาจารย์มานพ ศรีสมพร จากผลงานมานพ 12-15

แบบอักษรลอกมานพ 12-15
เปรียบเทียบขมวดม้วนลดรูปของ DB NopEuro กับ DB YangDung

ลักษณะกว้างๆ ของตัวอักษรกลุ่มนี้คือ ตัวเหลี่ยมอยู่ในกรอบมุมมนคล้าย Eurostile น้ําหนักเส้นสม่ําเสมอกันตลอด. ส่วนหัวอักษรลดรูป (จากหัวกลมตามตัวอักษรมาตรฐานไทย) เหลือเป็นขีดสั้นๆ ในแนวระดับโดยเชื่อมต่อกับเส้นแนวตั้งเป็นมุมโค้งมน, เช่นเดียวกันกับส่วนขมวดม้วนของตัว น และ ม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของอักษร ชุดนี้ ก็ถูกลดรูปเหลือแค่ขีดยื่นเลยเส้นตั้งออกนอกลําตัวอักษรไปเล็กน้อย. วิธีเขียนขมวดม้วนแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในงานอักษรประดิษฐ์ก่อนยุค ’70 ที่มานพ 12 เริ่มผลิตขาย. ย้อนดูได้จากฟอนต์ย้อนยุคอย่าง DB YangDung ที่ใช้กับสัญลักษณ์ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น.

เทียบปาก ถ ถุง แบบอักษรลอกมานพ 12 มีขีดแนวนอนเหมือนมานพ 4
เทียบตัว ช. ย ของแผ่นอักษรลอก มานพ 12 กับ มานพติก้า 1 สังเกตเส้นหยักกลางชนเส้นตั้ง เป็นแบบฉบับเดียวกัน

ไม่เพียงแค่ส่วนหัวของขมวดม้วนเท่านั้นที่ทําให้แบบอักษรลอกชุดนี้อ่านง่าย เส้นแนวเฉียงซึ่งมีมากในอักษรเขียนมาตรฐานไทยก็ยังคงรูปเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่ (ย้อนอ่านบทความ DB Ramintra เปรียบเทียบ) โดยเฉพาะอักษร ร นั้น อ.มานพ จงใจให้พื้นที่ช่องบนแคบกว่าช่องล่าง (เหมือนตัว ร มาตรฐาน) อย่างชัดเจน อีกทั้งปลายทั้ง 2 ด้านยังเหยียดตรงในแนวระดับ ไม่ได้โค้งเข้าฉากแบบ DB EuroThai. ดังนั้นเมื่อพิมพ์ คําว่า ‘รบ’ ด้วย DB NopEuro ฟอนต์อนุรักษ์แบบตัวอักษรลอกชุดนี้ เทียบกับฟอนท์ DB EuroThai ดู จะพบว่าของ DB NopEuro จะอ่านว่า ‘รบ’ ชัดเจน ขณะที่ของ DB EuroThai อาจอ่านสับสนเป็น ‘เอส-ยู’ ตัวย่อของ Silpakorn University!

DB NopEuro ยังคงยึดถือแบบตัวอักษรลอกต้นฉบับไว้เป็นหลัก สิ่งที่แก้ไขมีเพียงเล็กน้อย อย่างเช่น สัดส่วนอักษร พ, ฟ ที่พบว่าทึบเกินไปเมื่อถูกพิมพ์ ในขนาดพอยท์เล็กๆ จึงถูกขยายออก, หรือรอยหยัก ของ ฎ ชฎา และ ฎ ปฏัก ก็ถูกปรับแต่งใหม่โดยลดรูปลงจากเดิมตามมาตรฐานของ DB (ตัว ฎ ชฎา ของ อ.มานพ อาจดูสับสนเป็น ฏ ปฏัก ได้) เป็นต้น.

แผ่นพับนิทรรศการ "อยากทันสมัย สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทย" (Keeping Up Modern Thai Architecture 1967-1987) ของ TCDC ใช้ DB Yang Dang ฟอนท์ย้อนยุค ที่มีอิทธิพลต่อแบบอักษรลอก มานพ 12

ถ้าใครสังเกตให้ดีจะพบว่า เส้นบนเส้นล่างของชุดอักษรลอกต้นแบบจะเห็นเป็นเส้นตรงชัดเจน ส่วนของตัวพิมพ์เล็กของฟอนต์ Eurostile จะดูโค้งนูนนิดๆ ไม่ตรงเสียทีเดียว ดังนั้นชุดตัวอักษรโรมันของ DB NopEuro จึงต้องออกแบบใหม่ให้เข้ากับตัวอักษรไทย.

เมื่อได้ตัว DB NopEuro 2 น้ําหนักแรก คือ Regular และ Bold (จากมานพ 14 และมานพ 12 ตามลําดับ) จึงทําการปรับสัดส่วนเพิ่มเติมให้แตกออกเป็นชุดตัวกว้าง (Extended) และตัวแคบ (Condensed) และเพิ่มตัวเอนให้ครบ. (แบบอักษรลอกมานพชุดนี้ไม่เคยมีตัวเอนให้เลือกใช้.) รวมเป็น 12 สไตล์!

เนื่องจาก DB NopEuro เป็นอักษรไทยแบบมีหัว, หัวที่ยื่นไปข้างหน้า เช่น น, บ, ท ทําให้ต้องเพิ่มช่องไฟระหว่างตัวอักษรมากกว่าตัวไม่มีหัวแบบ DB Ramintra หรือ PSL Natrinthorn. ทั้งความอ่านง่ายของรูปอักษรรวมกับซ่องไฟที่ค่อนข้างโปร่ง ทําให้ฟอนต์ตระกูล DB NopEuro ทั้ง 12 สไตล์ เหมาะสมกับสื่อดิจิตอลแบบพกพา ที่ต้องใช้ฟอนท์ดิสเพลย์ขนาดเล็กลงตามขนาดจอ.

เราเคยได้ยินการอ้างอิงคุณภาพสินค้า ‘มาตรฐานยูโร’ กันบ้างแล้ว. ในภาวะที่ยูโรโซนกําลังโซเซ ขอบอกอย่างชาตินิยมนิดๆ ว่า DB NopEuro เป็นฟอนต์เหลี่ยมยูโรมาตรฐานไทย คืออักษรไทยไม่สับสนเป็นตัวฝรั่ง.

ฝรั่งอ่านได้ คนไทยอ่านดีครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ December 2012