DB ChuanPim

ชวนพิมพ์ต้นแบบเป็นผลงานศิลปนิพนธ์เรื่อง “การออกแบบตัวเนื้อไทยให้สอดคล้องกับ Helvetica” ของ อ.เชาวน์ ศรสงคราม ขณะทําปริญญาโทที่ Rochester Institute of Technology (RIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา. ต่อมาได้กลายเป็นตัวพิมพ์เชิงพาณิชย์ที่เลื่องชื่อราวปี พ.ศ.2523 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายยุคตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสงของไทย. ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดของชวนพิมพ์คือมีปลายเส้นตัดจบในแนวราบ (horizontal endings) เหมือน Helvetica.

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของฟอนต์ดิจิตอลที่เป็น PostScript บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) จํากัด ผู้แทน จําหน่ายเครื่องเรียงพิมพ์ Compugraphic เดิม ได้ว่าจ้างให้ Dear Book Co., Ltd. ที่มีผมและเพื่อนๆ เป็นเจ้าของ โยกย้ายชวนพิมพ์มาเป็น PostScript Font ที่ใช้กับเครื่องแมคอินทอช ด้วยชื่อ EAC ChuanPim เพื่อใช้กับเครื่อง Imagesetter.

วันที่ต้นแบบโบร์ไมด์ชุดตัวอักษรชวนพิมพ์ขนาดโตถูกส่งมายังบริษัท คุณสุรพล เวสารัชเวศย์ เพื่อนของผมที่ทําหน้าที่ย้ายสํามะโนครัวชวนพิมพ์ และผมต่างดูด้วยความงุนงงว่าทําไมเส้นแนวตั้งของรูปอักษรทั้งชุดถึงได้โค้งงอไม่เป็นเส้นตรง! (เดิม ที่เคยใช้เป็นตัวเรียงคอมพิวจะอยู่แค่ 12-16 ปอยต์ ซึ่งเล็กจนไม่เคยสังเกตเห็น) แต่จะเป็นด้วยข้อสัญญาที่คุณสุรพลทําไว้กับ EAC หรือสไตล์การทํางานของคุณสุรพลเองผมก็ไม่ทราบ ที่ทําให้เขาเพียรพยายามรักษารูปอักษรดั้งเดิมของ อ.เชาวน์ ไว้ทุกประการซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการใช้พิมพ์อ้างอิงได้ง่าย ในปัจจุบัน.

เส้นแนวตั้งที่โค้งงอในชวนพิมพ์เดิม เป็นการตีค่าของ อ.เชาวน์ ศรสงคราม ให้แฝงความอ่อนช้อยแบบ Helvetica ถูกปรับใหม่ให้เหยียดตรง เพื่อใช้งานในขนาดโตได้เรียบร้อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม EAC ChuanPim ในยุคดิจิตอลกลับไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร. สาเหตุอาจเป็นเพราะในต้นยุคดิจิตอลของไทย Dear Book ได้ออกแบบฟอนต์ตัวเนื้อ PostScript ใหม่ๆ คือ DB ThaiText, DB FongNam และ DB Narai* ตามลําดับ ให้คนในวงการใช้ล่วงหน้าไปก่อน จนเกิดกระแสเห่อของใหม่ลืมคุณค่าตัวเก่าๆ ไป. อีกสาเหตุคงเป็นที่ ปัญหาของ EAC ChuanPim เอง ซึ่งมีเพียงตัวปรกติให้ใช้แค่น้ําหนักเดียว ประกอบกับแนวโน้มความนิยมตัวเนื้อที่โปร่งบางขึ้น และขนาดค่อนข้างจะเล็กลง, ทําให้ “สี” ของ EAC ChuanPim ดูออกจะเข้มมากไปเสียแล้วที่จะเป็นตัวเนื้อ.

ช่วงที่ผมได้รับเชิญจากชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย ให้ไปเป็นวิทยากรกล่าวนําหลักการออกแบบตัวพิมพ์เบื้องต้นให้ แก่ผู้เข้าร่วมประกวด 10 แบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อการแจกฟรีชุดแรกนั้น นับว่าเป็นโชคของผมที่ได้มีโอกาสได้พบ อ.เชาวน์ และต่อมาได้เข้าฟังคําบรรยายของท่าน เรื่อง Negative Space และ Positive Space ในตัวพิมพ์ไทย ร่วมกับนักออกแบบที่ได้รับการคัดเลือก อ.เชาวน์ ได้ยกตัวอย่างตัวพิมพ์ ‘ศิริชนะ’ ของ อ.วันชัย ศิริชนะ ให้ดูว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการให้ความสําคัญ ‘พื้นที่ว่าง’ ในตัวพิมพ์แต่ละตัว และก็นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งของผม เมื่อครั้งที่เป็นตัวแทนของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGA) เข้าร่วมประชุมกับสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) นั้น ผมมีโอกาสได้ฟังผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์หลายท่านในวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย อภิปรายเกี่ยวกับพันธกิจของ สศร. ทําให้ผมชัดเจนกับนิยามของงานอนุรักษ์มากขึ้นว่า ไม่จําเป็นต้องเหมือนเก่าเสียทั้งหมด แต่สามารถปรับแต่งเพื่อให้ร่วมสมัยขึ้นได้.

ส และ ศ เดิมหางสั้น และซ่อนตัวอยู่เป็นระเบียบเสมอแนวเส้นหลัง ถูกต่อหางเยื้องเลยไปทางซ้ายเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น

งานอนุรักษ์ชวนพิมพ์ ในปี พ.ศ.2550-2551 ของผมเกิดจากการต่อยอด EAC ChuanPim ที่คุณสุรพลทําไว้. ผมใช้หลักการสร้างสมดุลในพื้นที่ว่างของ อ.เชาวน์ และทฤษฎีคู่สับสนของผมเองในการปรับปรุงชวนพิมพ์ด้วย ‘มิติที่กว้างขึ้น’ ของงานอนุรักษ์.

รายการแรกสุดที่ต้องทําคือ จัดการปรับเส้นแนวตั้งทั้งหมดให้เป็นเส้นตรง เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยเมื่อใช้ในขนาดโตๆ. จากนั้นเมื่อพิจารณาพื้นที่ว่างของตัวที่ค่อนข้างแคบ เช่น ง, จ, ฐ จะถูกดึงออกให้กว้างขึ้นเล็กน้อย. หรือกลุ่มอักษรที่หัวถูกปิดล้อมด้วยเส้นหน้า เส้นหลัง เช่น ค, ด ฯลฯ หัวจะถูกลดขนาดให้บางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างให้ดูโปร่งขึ้น. ชุดสระ บน อิ อี อึ อื ก็เช่นกัน ถูกขยายพื้นที่ว่างภายในเพื่อลด ‘มวล’ ของมันลงไม่ให้ดูกดทับตัวพยัญชนะข้างล่าง. แม้แต่ขมวดม้วนของไม้ม้วนเดิมที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชวนพิมพ์ ผมก็ต้องตัดใจทําให้มันโปร่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เพิ่มน้ําหนักเป็นตัวหนาขึ้นได้โดยไม่ทึบตัน.

ชุดตัวพิมพ์ของ อ.เชาวน์ ค่อนข้างสมบูรณ์ในแง่การอ่านอยู่แล้ว กล่าวคือ มีคู่สับสนกันอยู่น้อยมาก เช่น ล-ส และ ค-ศ เนื่องจากหางสั้น และซ่อนตัวอยู่เป็นระเบียบเสมอแนวเส้นหลัง (เป็นการจัดระเบียบด้วยหลักคิดของ Helvetica) ถ้ามีสระบนกํากับอยู่จะสังเกตหางได้ยากในขนาดปอยต์เล็กๆ จึงถูกต่อหางเยื้องเลยไปทางซ้ายเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น เครื่องหมายไปยาลน้อย ‘ฯ’ เดิมซึ่งดูคล้ายเครื่องหมายไม้ยมก ‘ๆ’ มาก ถูกปรับพื้นที่ว่างระหว่างหัวกับเส้นดิ่งให้เห็นชัดว่าไม่มีส่วนหยักแบบ ‘ๆ’ รวมทั้งหดหางให้เสมอเส้นฐานเพื่อให้ดูแตกต่างจาก ‘ๆ’ ซึ่งยาวเลยเส้นฐาน (ตามมาตรฐานฟอนต์ตระกูล DB)

ในอักษรบางตัวของชวนพิมพ์เดิม เช่น ข และ ท แม้จะไม่สับสนกับตัวใดๆ แต่เพื่อให้กวาดสายตาอ่านได้ง่าย จึงได้เพิ่มขนาดส่วนหัวขมวดม้วนของ ข. และเพิ่มความทแยงของเส้นกลาง ท. ให้ดูชัดเจนยิ่งขึ้น.

ค, ด หัวจะถูกลดขนาดให้บางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างให้ดูโปร่งขึ้น

นอกจากรายละเอียดที่ผมกล่าวไปแล้ว ส่วนสําคัญอย่างยิ่งคือ การเพิ่มช่องไฟระหว่างตัวอักษรเข้าไปให้มากกว่าเดิม เพื่อ ให้อ่านได้ง่ายในขนาดตัวจิ๋ว หรือแม้กับตัวเนื้อขนาดปรกติก็ตาม ที่ถูกบีบให้อยู่ในคอลัมน์แบบเสมอหน้า-หลัง, ชวนพิมพ์ใหม่ น้ําหนักปรกติเมื่อเสร็จออกมาจึงดูโปร่งกว่า EAC ChuanPim ทั้งที่ความหนาของเส้นแนวตั้งยังคงเดิม. เพื่อให้สมกับตัวเนื้อไทยที่เทียบเคียงกับ Helvetica ผมจึงตัดสินใจขยายสมาชิกออกไป มีทั้งตัวบาง, ตัวค่อนข้างหนา และตัวหนา พร้อมชุดตัวเอน รวมเป็น 8 สไตล์

ผมได้ไปเยี่ยม อ.เชาวน์ พร้อมแบบทดสอบพิมพ์ของชวนพิมพ์ทั้งชุดที่เป็น OpenType เพื่อขอคําแนะนํา เมื่อได้เห็นชวนพิมพ์หลายน้ําหนักปรากฏอยู่ตรงหน้า ผมสังเกตเห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขของอาจารย์

“เคยมีคนเอาชวนพิมพ์ไปทําเป็นเส้นบางๆ มาให้ผมใช้” อาจารย์เล่าให้ฟัง “รู้สึกสบายตากว่าของเดิมของผมเสียอีก”

“ผมจะใช้ชื่อว่า ดีบี เชาวน์ ดีมั้ยครับอาจารย์?” ผมถามนํา ด้วยความตั้งใจจะให้เครดิตกับผู้ออกแบบ

“ชื่อ ชวนพิมพ์ อย่างเดิมดีกว่าครับ” อาจารย์ตอบด้วยรอยยิ้ม ผมจึงพยักหน้าตามนั้น.

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ในวันนั้นคือ ความใจกว้างและความถ่อมตน ทําให้คนน่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง. คํากล่าวที่ว่า ‘คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล’ เป็นสัจธรรมเสมอ. ทั้งคําบรรยายของ อ.เชาวน์ และนิยามที่ กว้างขึ้นของการอนุรักษ์จาก สศร. ที่ผมได้ซึมซับมา ล้วนมีส่วนสําคัญที่ทําให้งานอนุรักษ์ ‘ชวนพิมพ์’ ของผม ประสบผลเป็นที่น่าพอใจ…

ในสายตาของ อ.เชาวน์ ผู้ให้กําเนิด “ชวนพิมพ์” เอง.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ July 2009

DB ได้ขายลิขสิทธิ์ฟอนต์ DB Narai ให้ Morisawa Inc. ไปแล้วในปี พ.ศ. 2559