DB Toy

สาเหตุที่ฟอนต์ Extra Bold อย่าง DB Erawan ได้รับความนิยมอย่างมากน่าจะเป็นเพราะรูปทรงเรขาคณิตของมัน ประกอบกับมีความเป็น sans serif อยู่มาก เลยโดนใจนักออกแบบที่อยากให้งานดูทันสมัยแบบฝรั่ง! อย่างไรก็ตาม เมืองไทยก็ยังไม่มีฟอนต์ไทยทรงเรขาคณิตแบบหนาปึ้กในอารมณ์อื่นๆ ให้เลือกใช้มากนัก โดยเฉพาะที่ดูเป็นกันเองและเป็นไทยมากกว่า DB Erawan ขึ้นมาหน่อย. ผมจึงลองจับเอาแบบตัวอักษร Baby Teeth เท่าที่พอจําได้มาใส่ความเป็นไทยเข้าไปเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับนักออกแบบไทย.

วิธีการของผมไม่มีอะไรมาก ข้อแรกคือไม่พยายามไปหาซื้อฟอนต์ Baby Teeth จาก myfonts.com หรือแม้แต่จะเปิดหาจากกองหนังสือเกี่ยวกับ Typeface (ซึ่งคาดว่าน่าจะเจอ) เพื่อที่ผมจะได้สลัดหนีความเป็นทาส Baby Teeth ไปเสียได้! ข้อสองคือใช้หลักการของเล่นประเภท Puzzle ของจีนที่ฝรั่งเรียก Tangram ลักษณะ เป็นชิ้นไม้รูปทรงเรขาคณิต 7 ชิ้น (ที่เกิดจากการซอยแบ่งจากชิ้นจัตุรัสใหญ่ด้วยเส้นแนวทะแยงเป็นหลัก) จะต่อเล่นเป็นรูปอะไรก็ได้แล้วแต่จะจินตนาการ. ฟอนต์ที่กําลังจะเกิดขึ้นใหม่ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้

Tangram เกิดจากการแบ่งซอย แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกเป็น 7 ชิ้น

ผมร่างรูปทรงเรขาคณิตปะติดปะต่อกันอย่างสนุกมือ ทั้งสี่เหลี่ยม, สามเหลี่ยม, ทรงกลม ประกอบเข้าด้วยกันให้ดูเป็นตัวอักษรไทย. มีหลักว่ารูปทรงต่างๆ จะต้องมีด้านสัมผัสกันเพื่อเป็น silhouette ของตัวอักษร เหมือน silhouette ภาพของ Tangram ต่างกันตรงที่ไม่ถึงกับต้องใช้รูปทรงและจํานวนชิ้นตายตัวแบบ Tangram อีกทั้งยังอนุโลมให้วางทับซ้อนกันได้บ้างตามสมควรเพื่อผลทางการอ่าน เช่น ทรงกลมทึบเล็กๆ ที่ใช้แทนหัวของอักษร เป็นต้น.

บ และ ก คืออักษร 2 ตัวที่เป็นพื้นฐานที่สุด. บ ประกอบขึ้นจากสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 แท่ง วางสัมผัสปลายเส้นฐานล่างรูปครึ่งทรงกลม. ส่วนตัว ก เหมือน บ กลับด้าน เพียงแต่ให้ขาหน้าเลื่อนเข้ากลางเล็กน้อยเพื่อให้ส่วนบน ที่ล้ำออกไปดูเป็นปากอักษร ก.

ตัว ข (รวมทั้ง ช) ใช้ประสบการณ์เพิ่มจากตัว ข ที่เป็นตัวเก่งของ DB Adman มาประกอบขึ้นใหม่ด้วยครึ่งทรงกลมทึบ 2 ขนาดแทนการขมวดม้วนของหัวเข้ากับเส้นหน้า. ตัว ย ซึ่งซับซ้อนกว่านั้นได้รับอิทธิพลมาจากตัว ข โดยตรง.

ตัว ค นั้นยอมให้หัวกลมทึบทับขาหน้าเล็กน้อย เพื่อดูออกได้ง่ายว่าเป็นหัวที่ยื่นออกมาจากขาหน้า เมื่อมันถูกเติมหางทะแยงแหลมขึ้นไปจึงได้ตัว ศ ที่มีหน้าตาดูเหมือนมนุษย์ค้างคาวที่มีหูข้างเดียว!

ตัว น, ม เมื่อลองเขียนวงกลมทั้งหัวและขมวดม้วนดู ปรากฏว่าดูคล้ายกันมาก เลยลองใช้เส้นทะแยงเป็นรูปสามเหลี่ยมแหลมลงมาเป็นขมวดม้วนดู (คล้ายหาง ศ) พบว่าแยกแยะกันได้ดีแถมรูปทรงน่าสนใจกว่า. ส่วนหัว ตัว ห นั้นไม่จําเป็นต้องแหลมแบบตัว ท (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากตัว น) แค่เพิ่มทรงกลมแทนขมวดม้วนก็ชวนมองแล้ว.

หัวตัว ล ถูกพลิกหมุนทวนเข็มนาฬิกา 90 องศา เพื่อทําหัวตัว ถ ที่ดูห่างไกลจากตัว ด แล้วพลิกกลับมา เป็นตัว ภ.

ตัว พ ฟ นั้นเลี่ยงใช้เส้นหน้า, กลาง, หลัง แบบตั้งตรง (ซึ่งจะทําให้ดูอ้วนมาก) มาเป็นแบบหยักฟันปลา แล้วใส่หัวกลมเข้าไปให้มันดูต่างจากตัว W. เช่นเดียวกับที่ใส่หัวกลมให้ตัว ร เพื่อไม่ให้มันเป็น S จ๋าแบบฝรั่ง. จะเห็นได้ว่าการใส่หัวกลมเพื่อให้ดูเป็นไทยนั้นต้องใช้สติไม่หุนหันไปตามอําเภอใจ เช่น ตัว บ ขืนใส่หัวเข้าไปอาจไขว้เขวเป็น ตัว ข เอาได้.

สระ ใ, โ เหมือนมี Packman มาวางอยู่บนสระ เ. ส่วนสระ ไ ดูให้ดีที่เกิดจากต่อด้านบนสระ เ ขึ้นไปด้วยรูปสามเหลี่ยม แล้วเอารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ วางสัมผัสด้านทะแยงคล้ายบางอารมณ์ของ Tangram ที่ผมซึมซับมา.

ฟอนต์ Tahoma Bold และ DB Toy รูปสระบน-ล่าง, วรรณยุกต์, การันต์ ฯลฯ ถูกทําให้ไม่เด่น ด้วยน้ําหนักเส้นสม่ำเสมอแบบค่อนข้างบาง

ถ้าสังเกตดูให้ดี ชุดตัวอักษรไทยที่ประกอบขึ้นด้วย 2 ขา จะมีพื้นที่ว่างปรากฏเป็นมุมฉากซ่อนอยู่เสมอ ซึ่งยึดโยงมาจากตัวพื้นฐาน บ และ ก ที่กล่าวมาแต่ตอนต้นนั่นเอง. ลักษณะพิเศษนี้ได้ตกทอดไปสู่อักษรละตินในชุดของมันด้วยและน่าจะทําให้มันดูต่างไปจาก Baby Teeth พอสมควรเลยทีเดียว.

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของฟอนต์ชุดนี้ คือ รูปสระ บน-ล่าง, วรรณยุกต์, การันต์ ฯลฯ ถูกทําให้ไม่เด่น ด้วยน้ําหนักเส้นสม่ำเสมอแบบค่อนข้างบาง เพื่อเปิดโอกาสให้อักษรขี้เล่นในร่างอ้วนทึบได้อวดตัวเองอย่างเต็มที่. อันที่จริงแล้วเป็นวิธีการที่เคยมีคนนํามาใช้ออกแบบฟอนต์ ไทยชื่อ Tahoma มาก่อน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ด้านบนที่มีอยู่น้อย (เพราะถูกออกแบบให้ใช้ร่วมกับตัวละตินของมัน ซึ่งมีพื้นที่บนแคบกว่าฟอนต์ไทยปรกติ) Tahoma ที่ใช้กันแพร่หลายใน web อาจดูขัดหูขัดตาไปบ้างสําหรับการเป็นตัวเนื้อไทยเล็กๆ แต่สําหรับการพลิกมาใช้กับฟอนต์ดีสเพลย์ไทยเยี่ยงนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการท้าทายที่ให้ผลตอบรับคุ้มค่า.

ผมตั้งชื่อให้มันว่า DB Toy เพื่อบันทึกอารมณ์สนุกสนานตลอดการทํางานจนผลลัพธ์ออกมาก็ยังดูสนุกเหมือนต่อชิ้น Tangram ทั้ง 7 เป็นรูปร่างตามแต่จินตนาการ. Tangram ได้รับการยอมรับในแง่ศิลปะว่า ช่วยให้เด็กๆ จินตนาการต่อเติมรูปทรงธรรมชาติได้จากรูปทรงเรขาคณิตอย่างอิสระ. เมื่อรูปทรงถูกต่อเติมออกไปมากแบบขึ้น แล้วบันทึกไว้แต่เส้น Outline ให้ผู้อื่นลองพยายามทําตามให้ได้บ้าง จึงกลายเป็น Puzzle ซึ่งสนุก เฉพาะกับคนที่ชอบเกมท้าทายปัญญาเท่านั้น.

ถึง DB Toy จะทําออกมาอย่างเล่นๆ แต่จะเห็นได้ว่าผมกลับเป็นจริงเป็นจังมากในเรื่องการทําอย่างไรให้อ่านง่ายเข้าไว้ ทําไมน่ะหรือ?

ก็เพราะมันชื่อ DB Toy ไม่ใช่ DB Puzzle ให้ต้องมานั่งเดาให้เมื่อยเซลสมองว่ามันตัวอะไรกันวะ?!?

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ January 2010