DB Orrachorn
ซองยา ‘ทัมใจ’ Trademark ปัจจุบัน เขียนไม่ต่างจากชื่อเดิมที่ชื่อ ‘ทันใจ’ นัก

ตัวอักษรคําว่า ‘ทันใจ’ ในซองยาแก้ปวดที่ผมเห็นมาแต่เด็กจําได้ว่าอยู่มาวันหนึ่งชื่อต้องเปลี่ยนเป็น ‘ทัมใจ’ และใช้มาจนถึงปัจจุบันเพราะไปขัดกับกฎหมายไทยข้อที่ว่า ห้ามตั้งชื่อยาในเชิงโฆษณาสรรพคุณ. ลักษณะการเขียนคําว่า ‘ทันใจ’ เดิมเป็นเส้นอ่อนช้อย มีการขมวดในจังหวะที่เส้นเปลี่ยนทิศทางเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ชัด. เมื่อเปลี่ยน เป็น ‘ทัมใจ’ นั้น คนซื้อแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย เพราะตัว ม ถูกพยายามทําให้ก้ำกึ่งระหว่าง ม กับ น โดยมีขมวดม้วนที่ฐานทั้งหน้าและหลัง เพียงแต่ขมวดม้วนใหญ่กว่าเพื่อให้ออกเสียงเป็น ม เท่านั้นเอง!

ตามประสาเด็กที่ริอ่านทําอะไรแบบผู้ใหญ่ ผมชอบสังเกตลายมือพี่ๆ ลายมือคุณครูบนกระดานที่เขียนได้รวดเร็ว แล้วลักจําเอามาลองหัดเขียนดูบ้าง (โดยมากเป็นตัวเอนขวา). จําได้ว่าทั้งหางตัว ศ ษ และ ส จะเขียนต่อ เนื่องโดยไม่ยกปากกา. ตัว ก นิยมเขียนเส้นหน้าเป็นเส้น ตรงขึ้นไปแล้วขมวดมุมเล็กๆ เป็นปมตวัดโค้งลงมาที่ฐาน. ส่วนตัว ย จะกลับกันกับ ก คือ จากหัวตวัดโค้งลงมาขมวดปมที่ฐานแล้วลากเป็นเส้นตรงขึ้นไป. เส้นที่ขมวดบนซองยาแก้ปวดและบนกระดานดําในลายมือหวัดที่เป็นครูของผมดังกล่าวมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดประดิษฐ์ตัวพิมพ์ลายมือไทยขึ้นมาใหม่โดยมีโจทย์สําคัญว่าทําอย่างไร ให้ดูร่วมสมัยขึ้น?

โฆษณาน้ําหวานตราสิงห์ ของบุญรอดบริเวอรี่ (พ.ศ.2483) สังเกตพาดหัวคําว่า ‘ไม่’ และ ‘เหมาะ’ คําแรกของบรรทัด
เขียนสระหน้าด้วยขนาดใหญ่เลยเส้นฐานลงมา

ผมลองค้นคว้าตัวลายมือเขียนตามสื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์เก่าๆ ดูเพิ่มเติมเพื่อหาลูกเล่นดีๆ ที่อาจพอมีโอกาสปรับมาใช้ร่วมกันได้. ปรากฏว่าลายมือประดิษฐ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากที่สุดก็คือกลุ่มที่เขียนสระหน้ายาวเลยเส้นฐานลงไป! ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วเมื่อตอนออกแบบฟอนต์ไทยใหม่ๆ ว่าแต่ละแถวตัวอักษรที่พิมพ์นั้นจะหนักบนมากกว่าล่าง เพราะภาษาไทยเรามีรูปวรรณยุกต์รวมการันต์อยู่ถึง 5 รูป วางอยู่บนตัวอักษร อีกทั้งรูปสระบนที่ใช้ประจําอีก 7 รูป (รวมสระ อํา เข้าไปด้วย) ขณะที่มีรูป สระล่างอักษรเพียง 2 รูปเท่านั้น ถ้าเราลองเทียบดูกับตัว script ของฝรั่งที่นิยมเขียนตัว f ต่ำเลยฐานลงมา จะพบว่าสัดส่วนจํานวนตัวอักษรที่มีรูปเกิน x-height ขึ้นไป ต่อจํานวนอักษรที่มีรูปล้ำเลย baseline ลงมา มีค่าเท่ากับ 7 : 6 (จุค i, j เล็กๆ ไม่นับ) ตัดตัว f ที่มีรูปล้ำทั้งบนและล่างทิ้งก็จะเป็น 6 : 5 ถือว่าสูสี. ถ้าคิดความถี่ในการใช้งานจริง เช่น j, q มีที่ใช้น้อย ตัดทิ้ง 2 ตัว ก็จะเป็น 6 : 3 หรือ 2 : 1. เมื่อเทียบกับลายมือเขียนของไทยดูยังไงก็ต้องมากกว่า 2 : 1 (ใครไม่เชื่อลองค้นหา เอาค่าเฉลี่ยความถี่ในการใช้งานมาคํานวณดูเองก็ได้)

ด้วยเหตุนี้ การเขียนสระหน้าให้ห้อยต่ำกว่าเส้นฐานลงมาจึงน่าจะเป็นหนทางใหม่ที่ช่วยปรับสมดุลความเข้ม ระหว่างบนและล่างแถวตัวอักษรลายมือเขียนไทยให้เฉลี่ยใกล้เคียงกันมากขึ้น.

เมื่อความคิดตกผลึกแล้ว ผมหาช่วงเวลาสบายๆ เขียนชุดตัวอักษรในจินตนาการออกมาด้วยปากกาลูกลื่นบนกระดาษ มันเสร็จลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ. เคล็ดลับก็คือผมไม่ได้ค่อยๆ ร่างทีละตัวเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะความคล้ายคลึงกันเหมือนตอนร่างแบบตัวพิมพ์เนื้อเรื่อง (text) หรือตัวพิมพ์หัวเรื่อง (display) ที่เคยทําผ่านๆ มา. ลายมือเขียนจะดูเป็นธรรมชาติก็ต้องเกิดจากการเขียนเนื้อความต่อเนื่องไปเรื่อยๆ. ผมเลือกเอากลอนพิเศษ 2 บทที่มีคนแต่งไว้ให้ใช้รูปอักษรไทยครบทุกตัวนํามาเขียนด้วยอารมณ์ไหลลื่น. มันไม่เชิงเป็นลายมือหวัด เพียงแต่เอาวิธีการเขียนหวัดที่ชอบขมวดม้วนแบบโบราณมาเขียนให้ละเมียดขึ้นด้วยการเขียนให้ช้าลง เหมือนเอาเพลงเร็วมาเปลี่ยนจังหวะใหม่ให้ช้าลง เพื่อมีเวลาพอที่จะเพิ่มเสียงเอื้อนเข้าไป. เบื้องหลังของการเขียนต้นแบบฟอนต์ตัวนี้ที่สําคัญมีอยู่ 3 เรื่อง คือ การขมวดม้วนเส้น, การเปลี่ยนทิศทางของการเขียน, และการเปลี่ยนรูปอักษร.

การเขียนขมวดนั้นถือเป็นจุดเด่นสําคัญประการหนึ่งที่มีพบอยู่ทั่วไป. ความยากคือ การตัดสินใจเลือกใส่จริตแต่พองาม. ตัว ก และอักษรคล้ายของมันซึ่งมีมาก ผมเลือกขมวดที่ปากทุกตัวให้เกิดช่องว่างเน้นๆ เป็นการคุมสไตล์. ส่วนตัว ข เลือกที่จะไม่ขมวดเลย ไปเน้นขมวดอ้วนๆ ที่ตัว ช แทน เพราะลองเขียน ข แบบขมวดที่ฐานให้เกิดช่องว่างดู ถึงหางจะสั้นก็มีโอกาสดูสับสนเป็นตัว ช ได้.

ตัว จ ผมเขียนเลียบแบบ จ จากซองทันใจ ในความทรงจําวัยเด็ก. ตัว ง ผมไม่เขียนแบบ จ เพราะรู้สึกฝืน. เช่นเดียวกัน ตัว ล ผมก็ไม่ขมวดม้วนแบบตัว จ ที่ฐาน เพราะเล็งที่จะขมวดหางเป็น ส อยู่แล้ว (ถ้าเขียน ส ขมวด ทั้งล่างและบน จะต้องฝืนเขียนและดูรุงรัง). ส่วนตัว ฐ ถ้าเขียนแบบตัว จ จะทําให้ต้องขมวดหางแบบตัว ส รวมกับ ขมวดที่เชิงเข้าไปคงเปรอะเกินไป จึงเลี่ยงเขียนเป็น s-curve แบบตัว ร ซึ่งดูร่วมสมัยกว่า.

ตัว ผ, พ และตัวคล้ายของมันผมเน้นขมวดกลางตัวให้เกิดช่องว่างไปเลย. ส่วนพวกหัวหยัก เช่น ฆ หรือเส้นบนหยัก เช่น ต นั้น แค่ขมวดเป็นมุมตันๆ ไว้ก็พอ. ในตัวเลขไทยก็เช่นกัน ขมวดตันพบอยู่ได้ทั่วไป ยกเว้นที่ฐานของเลข ๔, ๕ และที่เส้นทะแยงของเลข ๙ จะเน้นขมวดให้เกิดพื้นที่ว่าง. ส่วนวรรณยุกต์ตรี (ที่รูปคล้ายเลข ๗) และไม้ไต่คู้ (ที่รูปคล้ายเลข ๘) ตั้งใจเขียนให้มีขนาดเล็กแบนเพื่อปรับสมดุลไม่ให้เหนือตัวพยัญชนะดูเข้มไป จึงต้องลดการม้วนไปโดยปริยาย.

ระหว่างที่ผมเขียนด้วยลูกลื่นนั้น ผมจินตนาการว่ามือกําลังถือพู่กันจุ่มสีเขียนอยู่. เมื่อต้องเขียนสระหน้ายาวๆ ล้ำเส้นฐานลงมาให้พริ้วหวานเป็นธรรมชาตินั้นการเขียนต้องเป็นไปตามธรรมชาติด้วย. เคล็ดลับก็คือผมเขียนจากบนลงล่างนั้นเอง (ถ้าไม่เชื่อลองเอาพู่กันเขียนสระหน้า ยาวๆจากหัวขึ้นไปดู), การเขียนสระหน้าแบบนี้แท้จริง เกิดจากการจงใจเปลี่ยนรูปอักษรก่อน.

ใบปิดถ้วยข้าวผัดปู 7 FRESH ของเครือ ซี.พี. ถ้าเขียนคําว่า ‘เข้าแล้ว’ ด้วยลายมือเขียนแบบเดียวกันนี้ อาจอ่านผิดเป็น ‘เช้าแล้ว’ ก็เป็นได้

หลักการสําคัญของการเปลี่ยนรูปอักษรที่ผมใช้ประจําก็คือ ต้องไม่ส่งผลต่อการอ่าน. จะเห็นได้ว่าสระหน้าที่ยาวเลยฐานลงมาดูยังไงก็ไม่สับสนกับตัวอักษรอื่นๆ อยู่แล้ว. ผมลองเล่นคลื่นที่ส่วนบนของไม้มลายแล้วขมวดมุมทึบก่อนลากลงมา พบว่ามันน่าสนใจดี จึงขยายผลต่อไปที่ตัวไม้ยมก (ๆ) แต่คราวนี้ขมวดเน้นพื้นที่ว่างแทน เพราะเห็นว่านานๆ ใช้ทีเลยเอาเสียหน่อย. แม้ว่าการเขียน ไ, ๆ ของผมจะแตกต่างไปจากมาตรฐานเดิม แต่ยังคงอ่านได้สบายไม่สับสนกับตัวอื่น.

ตัว script ฝรั่งถูกเขียนขึ้นให้เข้ากับลายเขียนไทยด้วยปากกาลูกลื่นเช่นกัน. ผู้ช่วยของผมเพิ่มน้ําหนักเส้นเข้าไปให้ดูคล้ายเส้นพู่กันในคอมพิวเตอร์จนได้ออกมาอย่างที่เห็น. ถือเป็นตัวพิมพ์ลายมือวาดแบบอ่อนช้อยที่ช่วยชะลอกระแสโลกที่รีบเร่งและร้อนแรงให้ผ่อนคลายลง. มันดูต่างจากลายมือปรกติของผมซึ่งดูหวัดกว่านี้ เพราะมักต้องรีบเขียนเพื่อเก็บความคิดไว้ให้ได้ทันก่อนจะหายวับไป! ด้วยความที่มันดูไทยๆ ดี ผมจึงคิดหาทางตั้งชื่อเป็นคําไทยๆ ที่สามารถอธิบายลักษณะของตัวพิมพ์ได้อย่างเหมาะสม.

ในที่สุดผมตัดสินใจให้ชื่อฟอนต์ชุดนี้ว่า ‘อรชร’ เพราะนอกจากจะแสดงภาพลักษณ์ของฟอนต์ได้ดีแล้ว ยังเป็นชื่ออาคารเรียนของผมสมัยอยู่ปีหนึ่งเตรียมอุดมฯ พญาไท ผมอยู่ห้อง 1 ตึกอรชร 3 ห้องนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าห้องสิ่งประดิษฐ์ 1. นี่คือความลับของความหมาย

อรชร’ ก็คือ สิ่งประดิษฐ์ ที่ผ่านการประดิษฐ์ประดอยให้อ่อนช้อยนั่นเอง.

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ February 2010