DB Angkana

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2456 มีแบบตัวพิมพ์สยามชุดหนึ่งปรากฏให้เห็นครั้งแรกในหนังสือ อัสสัมชัญอุโฆษสมัย เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ฝรั่งเศส” และนิยมเรียกย่อๆ ต่อมาว่า ตัว ฝ.ศ. ชื่อ ฝรั่งเศส นี้เข้าใจว่าน่าจะได้มาด้วย 2 เหตุผล, ประการแรก ตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วฝรั่งเศสถูกสร้างขึ้นภายใต้การกํากับดูแลของ หลุยส์ รอมิเออ ผู้จัดการโรงพิมพ์อัสสัมชัญยุคนั้น และประการที่สอง แม่ทองแดงที่ใช้หล่อตัวพิมพ์ชุดแรกนั้นทํามาจากประเทศฝรั่งเศส.

น่าเสียดายที่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าใครกันแน่เป็นคนออกแบบตัว ฝ.ศ. แต่เนื่องจากหลุยส์ รอมิเออ เคยผ่าน วิชาการพิมพ์จากฝรั่งเศสมาก่อน เขาจึงน่าจะมีส่วนร่วมอย่างมากต่อรูปแบบของตัวพิมพ์ ฝ.ศ. ทั้งรูปโฉมของชุดตัวอักษรที่เข้าใกล้ตัวพิมพ์ละตินมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และการแก้ปัญหาคู่สับสนด้วยฝีมือขั้นเทพ.

ฝ.ศ. เป็นตัวพิมพ์ไทยชุดแรกที่นําเส้นหนักเบาแบบอักษรละตินโบราณมาใช้ เส้นแนวตั้งจะหนัก ส่วนเส้นแนวนอน (รวมทั้งเส้นรายละเอียดปลีกย่อย เช่น หัวอักษร หรือ เส้นหยักเฉียง) จะใช้เส้นบาง. ถ้าถามว่าอักษรตัวใดบ้างที่ถือเป็นนวัตกรรมของตัวพิมพ์ ฝ.ศ.? เพื่อความเป็นระบบ ผมขอคัดมาอธิบายเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้

ก, ค, ด

ก ถือเป็นตัวพิมพ์ชุดแรกที่เปลี่ยนเส้นปาก ก จากเส้นหยักเฉียงเข้า-ออก ไปเป็นเส้นขีดแนวนอนสั้นๆ วางพาดเกยเส้นหน้า วิธีการนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากตัว f หรือ t.

ค จงใจออกแบบให้เส้นคออยู่ในแนวดิ่ง แทนที่คอจะลากเฉียงไปบรรจบเส้นฐานแล้วขีดตั้งตรงขึ้นมาเป็นเส้นหน้าแบบตัวพิมพ์ก่อนหน้าที่เลียนวิธีการเขียน. วิธีนี้ทําให้เส้นหน้าของ ค กลายเป็น 2 ช่วง คือขีดขึ้นตรงๆ (ย้อนรอยแนวเส้นคอ) แล้วตีโค้งเป็นเส้นบนไปบรรจบเส้นหลัง. วิธีเก็บหัวไว้กับเส้นหน้านี้ นอกจากดูเข้าชุดกันได้ดีกับอักษร ก แล้ว ยังช่วยให้มันดูโปร่งกว่า ค แบบมีหัวอยู่กลางตัว.

ด จุดแตกต่างจาก ด ทั่วๆ ไป คือ ได้เลื่อนจุดบรรจบระหว่างเส้นคอกับเส้นหน้าจากเดิมที่อยู่บนเส้นฐานขึ้นไปเล็กน้อย วิธีการนี้นอกจากจะยังคงรักษาสไตล์ตัวอักษรที่มีเส้นหน้าแนวดิ่งไว้ได้อยู่ ยังทําให้มุมบรรจบกว้างขึ้น ซึ่งช่วยไม่ให้เกิดน้ําที่ฐานส่วนหัวของ ด ถูกเปิดออกช่วยให้ดูโปร่งขึ้น.

จะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบ ค-ด ดูแล้วจะแยกแยะกันได้ง่ายโดยไม่สับสนเลย เพราะว่า ค มีเส้นหน้าตั้งสูงกว่า ด. ค มีคออยู่ในแนวเส้นหน้า ส่วน ด มีคอเฉียงเข้ากลาง ทําให้ ค ดูโปร่งกว่า ด. ไปๆ มาๆ ตัวพิมพ์ชุดนี้ ค จะดูคล้าย ก มากกว่า ด ด้วยซ้ำ! โดยเฉพาะเวลาช่างเรียงตัวตะกั่วใช้งาน จะเห็นมันกลับซ้ายเป็นขวา! นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ปลายขาหลังอักษร ก ถูกตัดเฉียงไม่เหมือน ค (หรือ ด, ต, ท ฯลฯ) ที่ ขาหลังตัดแนวนอนเสมอเส้นฐาน. การตัดขา ก ให้เฉียงนี้ ช่วยให้เวลาช่างเรียงรื้อตัวตะกั่ว ฝ.ศ. ที่ใช้งานแล้วเก็บเข้าที่เดิมจะได้ไม่สลับเอาไก่ไปใส่คอกควายแล้วเอาควายไปยัดลงในเล้าไก่!

ข, ช, ซ

ส่วนหัวที่เป็นขมวดม้วนทุกตัว ถูกจัดระเบียบใหม่ให้ลากลงมาเชื่อมต่อกับเส้นหน้าโดยตรง ไม่มีการหักเฉียงย้อนกลับมาหาเส้นหน้าอย่างตัวพิมพ์ยุคก่อนหน้า (ที่เลียนวิธีเขียนดั้งเดิม). หัวขมวดม้วนทุกตัว (รวมทั้งหางม้วน ของ ใ) ล้วนถูกเปิดคลายออกแบบหัว ด เพื่อให้ดูโปร่งขึ้นและไม่เป็นจ้ำ (จากความบกพร่องของกระดาษหรือการพิมพ์) ได้ง่าย.

ข มีเส้นล่างโค้ง ส่วน ช มีเส้นล่างเป็นขีดยาวยื่นล้ำไปข้างหน้า อีกทั้งเส้นหลัง ช ยังเป็นหยักโค้ง (คล้ายเส้นหน้าตัว ย ทั่วไป) ช่วยให้มันดูแยกแยะจาก ข ได้อย่างวิเศษ.

ตัวอย่างอักษรบางตัว ในฟอนต์ DB Angkana ที่เปิดหัวเหมือน ตัว ฝ.ศ. ยุคแรก เพื่อให้ดูโปร่งตา
จ, ฐ

จ จงใจเปลี่ยนเส้นคอและเส้นหลังจากที่เคยเขียนหยักแหลมตั้งบนฐาน (ทําให้เกิดจ้ำหมึกง่าย) มาเป็นเส้นคู่ขนานฐานโค้งแบบตัว ข.

ฐ ให้สังเกตหยักด้านล่างถูกลดหยักเหลือเท่า ฎ ชฎา ไม่เหมือน ฏ ปฏัก, ถ้าไม่ใช่ข้อผิดพลาดก็ถือเป็นความชาญฉลาดของนักออกแบบ พ.ศ.2456 เพราะถึงจะหยักไม่ครบตามาตรฐานการเขียน แต่ในแง่การใช้งานเป็นตัวพิมพ์แล้วมันไม่มีวันดูสับสนเป็นตัวอื่นไปได้ และยังช่วยลดทอนรายละเอียดที่ไม่จําเป็น ช่วยให้ตัวพิมพ์ดูสะอาดตาขึ้น.

ล, อ, ย

ล สังเกตเส้นกลางของมันเปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว จากเส้นที่เคยหักขึ้นจากหัวเข้ากลางตัวแล้วพุ่งลงฐาน กลายเป็นเส้นโค้งเชื่อมเส้นหน้า (ที่ถูกจัดระเบียบให้ตั้ง เหมือน ก, ค ฯลฯ) เข้ากับเส้นหลัง.

อ, ย ทำนองเดียวกับ ล. เส้นฐานของ อ, ย ที่เคยแบนมาหลายศตวรรษได้ถูกปรับปรุงเป็นโค้งทั้งคู่ (เข้าใจว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากตัว c, e, o ฯลฯ) ผมได้ถืออักษร อ-ย คู่นี้เป็นอักษรครูในการทําตัวเนื้อไทย ว่าควรมีเส้นฐานสไตล์เดียวกัน

บ, ป, ษ

อักษรกลุ่มนี้เส้นกิ่งยื่นไปข้างหน้าอย่างชัดเจน ซึ่งไม่พบในตัวบรัดเลย์เหลี่ยมยุคแรกๆรวมทั้งตัวธงสยามที่เกิดขึ้นก่อนหน้า (น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากตัว B, D, E ฯลฯ). โดยเฉพาะการซ่อนหางตัว ษ หดอยู่ในลำตัวเป็นไส้นั้น ถ้าผู้ออกแบบไม่เคยพบเห็นวิธีการเขียนแบบนี้มาก่อน ย่อมถือเป็นความหลักแหลมในการแก้ปัญหาช่องไฟ หลังตัว ษ.

รวมความแล้วตัวตะกั่ว ฝ.ศ. คือสิ่งประดิษฐ์ที่สมบูรณ์พร้อมแทบไม่มีที่ติ ทั้งประโยชน์ใช้สอยเพื่อการอ่าน และ สุนทรียภาพเมื่อเห็นเป็นตัวดีสเพลย์. แม้แต่อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปแล้วยังเคยนําตัวตะกั่ว ฝ.ศ. ที่ท่านชอบมาแต่งเป็นกลอน.

ตัว ฝ.ศ. เป็นตัวเนื้อที่พัฒนาไปมากตลอดยุคตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วของมัน โดยเฉพาะมีน้ําหนักให้เลือกมากที่สุด ทั้งตัวปรกติ, ตัวเอน, ตัวอ้วน (หมายถึงตัวหนา) และ ตัวดํา (หมายถึงตัว Extra Bold). ด้วยประสิทธิภาพของมัน ทําให้สามารถก้าวฝ่าเทคโนโลยีมาได้ทุกยุค จากตัวตะกั่ว, ตัวไลโนไทพ์, ตัวเรียงพิมพ์ด้วยแสง (ตัวคอมพิว), จนถึง ตัวพิมพ์ดิจิทอล, อย่างไรก็ดีกลับพบว่า ฝ.ศ. ยุคหลังๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก, เช่น DB Narai ที่ผมออกแบบให้เป็น ฝ.ศ. ยุค PostScript ที่จะใช้โตแค่ไหนก็ได้นั้น ผมได้จัดการขาหลัง ก ที่เคยตัดเฉียงมาแต่เก่าก่อนให้ตัดนอนตามแนวเส้นฐานอย่างตัวอื่นๆ จะได้ดูเกลี้ยงเกลา เวลาใช้ขนาดใหญ่เป็นตัวพาดหัว.

ลูกหลาน ฝ.ศ. ที่กลายเป็นฟอนต์มหาชนของยุค PostScript คือ UPC Angsana เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรก UPC Angsana แทบไม่ต่างจากฟอนต์ ฝ.ศ. ยุคคอมพิวก่อนหน้า ผู้ใช้ (ซึ่งเป็นทั้งผู้อ่านด้วย) จึงรู้สึกคุ้นชินที่จะใช้. ประการที่สอง UPC Angsana เป็นฟอนต์ที่บริษัทผู้จัดทําได้ขายลิขสิทธิ์ให้ Microsoft นําไปใช้กับ Microsoft Word, Excel ฯลฯ, ‘อังศนา’ จึงเข้าไปอยู่ใน รายงานคุณลูกส่งครูไปจนถึงรายงานคุณพ่อคุณแม่ส่งเจ้านาย! เธอกลายเป็นตัวพิมพ์ยอดนิยมทั้งของภาครัฐและเอกชน เพราะอ่านแสนง่ายแม้ส่งผ่านแฟกซ์! เนื่องจากเธอซึมเข้าหยักสมองคนไทยมานานแล้ว ทั้งตำราเรียน นิตยสาร โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีสู่ฟอนต์ OpenType การโยกย้าย UPC Angsana จากตาราง ASCII ของฟอนต์ PostScript เดิม ไปอยู่บ้านใหม่ตาราง Unicode นั้น ได้เกิดความคลาดเคลื่อนทางเทคโนโลยีต่อเส้นรอบรูปอักษรไทยส่วนใหญ่ของ UPC Angsana (ไม่ใช่ human error) ทําให้ไม่สามารถใช้ Angsana เป็นตัวพาดหัวใหญ่ได้.

อยู่มาวันหนึ่ง ใครไม่รู้ (ผมขี้เกียจไปจำ) ออกคำสั่งให้ใช้ฟอนต์แห่งชาติ 13 ฟอนต์เป็นตัวราชการแทนฟอนต์อื่นๆ รวมทั้งฟอนต์ตระกูล UPC ด้วย. ทำให้ UPC Angsana โดน early retire ออกจากราชการด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นฟอนต์ต่างชาติ! ก่อนเกิดเรื่องนี้มีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งโทรมาสัมภาษณ์ขอความเห็นผม เขาเล่าให้ฟังว่าคุณประชา สุวีรานนท์ (เพื่อนของผมที่เคยเขียนเชิดชูตัว ฝ.ศ.ไว้) ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้อย่างได้อารมณ์ว่า ‘เป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี’.

ในความเห็นของผมแล้ว แบบตัวพิมพ์ตระกูล ฝ.ศ. ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม, เป็นสิ่งประดิษฐ์ขั้นเทพที่ได้รับใช้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้อาจมีหลักฐานยืนยันในภายหลังว่าผู้ออกแบบมีเพียงคนเดียวคือชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ หลุยส์ รอมิเออ ก็ตาม. มันไม่ต่างอะไรจากทองหยิบ ฝอยทอง ขนมพื้นบ้านไทยที่ชาวโปรตุเกสนามาเผยแพร่. ที่เหลวไหลไปกว่านั้นคือฟอนต์กลุ่มนี้ถูกแก้ไขให้พิมพ์ เลขไทยได้โดย(มัก)ง่ายจากตําแหน่งแป้นเลขอารบิกแทน! เช่นนี้แล้ว เราคงถึงวันสิ้นโลกในวันที่ ๑๒ December ๒๐๑๒!!!

เนื่องจากในปี 2556 เป็นปีที่แบบตัวพิมพ์ ฝ.ศ. จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี ผมจึงใช้โอกาสนี้ทวงความนิยมลูกหลานตระกูล ฝ.ศ. ให้กลับคืนมา ด้วยมาตรการทั้งด้านการออกแบบและด้านลิขสิทธิ์ควบคู่กันไป. ในด้านการออกแบบ เริ่มจากการนํา UPC Angsana ที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้วมาปรับปรุงเส้นรอบรูปอักษรให้เรียบร้อย โดยดึงเอาข้อดีของตัว ฝ.ศ. ยุคโบราณผสมเข้าไป รวมทั้งปรับปรุง ช่องไฟใหม่ ที่สาคัญคือ ได้ทําการตรึงรูปสระบนล่างและวรรณยุกต์การันต์ให้อยู่กับอักษร ก-ฮ ในทุกกรณี (ทําด้วย feature ที่เรียกว่า Ligature) เมื่อเราใช้โปรแกรม Illustrator จะสามารถตั้งค่า tracking ให้ขยายเพิ่มช่องไฟฟอนต์ ฝ.ศ. ตัวใหม่นี้เท่าไรก็ได้ โดยที่รูป สระ วรรณยุกต์ จะไม่กระเด็นหลุดจากอักษร (ที่มันกํากับอยู่) เหมือนอย่างฟอนต์ทั่วๆ ไป ในส่วนของอักษรละตินที่อยู่ใน UPC Angsana เดิม ซึ่งดูตัวเล็กไม่ได้สัดส่วนกับอักษรไทย ก็ได้ทาการขยายช่วยขึ้นอีกเล็กน้อย.

ในด้านลิขสิทธิ์ได้ยกฟอนต์ ฝ.ศ. ใหม่นี้ให้เฉพาะภาครัฐโหลดไปใช้ฟรีได้ในทุกกรณีโดยไม่ต้องติดปัญหาลิขสิทธิ์ เพราะแม้แต่ตัวอักษรละตินที่อยู่ใน UPC Angsana เดิม ทําไว้เป็นตัว Times ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขทั้งรูปอักษรและสัดส่วนระหว่างตัวนํากับตัวตามเสียใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว.

ผมจงใจตั้งชื่อ ฝ.ศ. ใหม่ตัวนี้ว่า DB Angkana เหตุผลแรกคือ มันฟังดูคล้าย Angsana แต่ไม่ใช่. อีกเหตุผลคือ เพื่อเป็นฟอนต์ที่สอนให้คนกลับไปเรียนรู้คุณค่าดั้งเดิม ของตัว ฝ.ศ. ชั้นครูในปี พ.ศ.2456.

คุณครู อังคณา หลาน ฝ.ศ. คนนี้จึงสามารถกลับเข้ารับราชการต่อได้แล้ว ส่วนว่าใครจะดึงตัวไปใช้ในงานภาคเอกชนก็ต้องซื้อตัวครับ!

จากคอลัมน์ a font a month
idesign magazine ฉบับ September 2012